ไทยโชว์ ตอน รวมโชว์ประทับใจ ๒

ไทยโชว์ ตอน รวมโชว์ประทับใจ (2)...3 ม.ค. 53

ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วกับรายการไทยโชว์รวมโชว์ประทับใจ กว่า ๑ ปีที่ผ่านมากับโชว์ดีๆ ที่ยังคงความประทับใจจะกลับมาสร้างความสุขให้คุณผู้ชมอีกครั้ง

คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการไทยโชว์ เล่าให้ฟังตามลำดับว่า

เปิดโชว์ภาคอีสาน ด้วยสีสันแห่งความสนุกสนาน "แคนลำโขง หนองคาย" ชมรมนาฏศิลป จังหวัดหนองคาย ยังจำได้ไหมครับ ภาพที่น้องๆกำลังฝึกซ้อมชุดตำนานบั้งไฟพญานาค ริมหาดทรายริมลำน้ำโขง ยามพระอาทิตย์อัสดง


หนังหญิงอัญมณี หรือหนังตะลุงหญิงอัญมณี จังหวัดสงขลา คงเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคที่ขีดกั้นความสามารถ หรือความทัดเทียมระหว่างชายและหญิง แม้ความเข้มข้นเร้าใจในการเชิดการพากย์อาจจะไม่เร้าใจเท่า นายหนัง –ผู้ชาย แต่ก็ถูกทดแทนด้วยความสง่า ประณีต กระชับฉับไว กินใจแบบหญิง

ละครชาตรี คือละครไทยที่มีความเป็นมายาวนานนับตั้งแต่สมัยกรุงศรี อยุธยาและเป็นพี่น้องกับโนราห์ อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะละครชาตรีบ้านเรืองนนท์ ทายาทของครูทองใบ เรืองนนท์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ยืดอายุ
ละครชาตรีให้ยืนยาว มีแหล่งพำนักอยู่ที่หลานหลวง หรือสนามควายในอดีต ซึ่งเป็น แหล่งรวมศิลปินหลายศาสตร์ไวอย่างครบครัน "แก้วหน้าม้า จับเรื่องตอนถวายลูก" เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสนุกสนานรับใช้ชาวบ้าน ที่ไม่มีปรุงแต่งจนดัดจริต ออกจะดิบ หยาบโลนจนบางช่วง บางคำถูกต้องห้ามในการออกอากาศ แต่ก็สะท้อนความจริงในสังคมไทย และที่สำคัญทำให้คุณผู้ชมรู้ว่าสัญลักษณ์สำคัญที่บอกว่าเป็นละครชาตรีมี โหมโรง รำซัด บอกบท 3 อย่างซึ่งขาดไม่ได้เลย



สี่เหลี่ยมเล็กๆ ด้านข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) คือที่ทำมาหากิน และแสดงศิลปะการแสดงที่บ่งบอกอัตลักษณ์ว่านี่แหละ เพลงโคราช เพลงของท้องถิ่นนี้เท่านั้น แต่ความงดงามของเพลงโคราชไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะที่แต่กลับบานสะพรั่งเป็นรากฐานสำคัญในการร้อง การประพันธ์ให้กับศิลปินลูกทุ่ง และเพื่อชีวิตจนเป็นที่ยอมรับและมี ชื่อเสียงโด่งดัง ในวันนั้นไทยโชว์พาคุณผู้ชมไปรู้จักกับสมาคมเพลงโคราช ที่ได้ยืนหยัด และยืนยันด้วยชีวิตต่อหน้าย่าโมว่าจะใช้พื้นที่เล็กๆ แห่งนี้เผยแพร่เพลงโคราชให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ตราบชีวิตหาไม่


ดงมันรักกันตรึม เป็นตอนหนึ่งที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม วงกันตรึม คือศิลปะการแสดงที่ได้รับความนิยมในแดนอีสานใต้ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีษะเกษ ด้วยเสียงกลองกันตรึม “โจ๊ะ พรึมๆ” ที่เร้าหัวใจ ซัดซ่ายอารมณ์ยิ่งนัก จำได้ไหมครับ เด็กชายตัวเล็กๆ ที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์และพรแสวงอันแรงกล้า ร้องกันตรึมสำเนียงท้องถิ่นสะกดคนดูไว้ได้อย่างอยู่หมัด หากสืบสาวราวเรื่องก็จะไม่แปลกใจเพราะน้องภู่ มฆวีคนนี้เป็นลูกชายของน้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ และหลานปู่ปิ่น ดีสมศิลปินกันตรึมชั้นครู เมืองสุรินทร์ ในตอนนี้ไทยโชว์ได้มีโอกาสพูดคุยกับศิลปินนักร้องลูกทุ่งชื่อดังคนรักกันตรึมชนิดฉีดเข้าสายเลือด ยิ่งยง ยอดบัวงาม ซึ่งรับปากบอกว่าความหน้าถ้าไทยโชว์ เสนอการแสดงอีสานใต้อย่าลืมเชิญมาเป็นแขกรับเชิญ


ละครร้อง “ตุ๊กกะตา ยอดรัก” ในพระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการละครเมืองไทย ที่ได้กลับไปดู ต้นกำเนิดของละครตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-6 ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และในครั้งนั้นถือว่าเป็นละครที่รวบรวมศิลปินชั้นครูไว้อย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น สุประวัติ ปัทมสูตร, ญานี ตราโมท, ปวันรัตน์ นาคสุริยะ, นฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ (ศิลปินนักร้อง-นักแสดงและผู้ดำเนินรายการชื่อกระฉ่อน ช่อง 4 บางขุนพรหม)ฯลฯ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ ควบคุมร้อง-ดนตรี ครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์ ร้องลูกคู่และ หม่อมหลวงจุลลา งอนรถ กำกับการแสดง


ครั้งแรกที่ไทยโชว์เชิญวณิพก ครูประทีบ สุขโสภา แห่งเมืองสุโขทัยราชธานี กับ อี๊ด ฟุตบาธ แห่งกรุงเทพมหานคร เพลงขอทาน ต่างยุค ต่างที่ มาดวลโชว์ กันกลางสวนจตุจักร สร้างความฉงนทึ่งให้กับนักช้อปได้อย่างเหลือเชื่อ หลายคนถามว่า เมืองไทย มีเพลงดีๆแบบนี้อยู่อีกหรือ? ที่สำคัญไทยโชว์ตอนนี้ทำให้เรารู้ว่าวณิพกต่างจากขอทาน เพราะวณิพกคือผู้ใช้ศิลปะ ไม่ว่าจะร้องรำทำเพลง แสดงเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินหรือสิ่งของ


ไทยโชว์ ได้นำเสนอหุ่นไทยไว้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นตอน หุ่นกระบอกอีสาน ภูมิปัญญาชาวบ้านคณะเพชรหนองเรือ ขอนแก่น ที่เรียกเสียงฮาแบบท้องขดท้องแข็ง เมื่อนึกถึงฉาก พระฤษีขี่มอเตอร์ไซด์
หุ่นกระบอก(ภาคกลาง) บ้านตุ๊กกะตุ่น เรื่องพระสุธน มโนราห์ ที่ทุ่มทุนสร้างฉาก 2-3 ชั้น เพื่อให้การแสดงสมจริงที่สุด และครั้งแรกที่รายการไทยโชว์จุดประกายความคิดให้ หุ่นไทยสองคณะ ที่ไปชนะหุ่นโลก “หุ่นสายเสมา และหุ่นช่างฟ้อน โจหน่า จับมือกันเล่นเรื่อง “ตำนานรักลาวดวงเดือน” กลับไปดูอีกครั้งแล้วคุณผู้ชมจะหายสงสัยว่าทำไม หุ่นไทยถึงชนะใจคนทั่วโลก


พอเอ่ยชื่อ หวังดี นิมา หลายคนถามว่าเป็นใคร แต่พอบอกว่านั่นแหละชื่อจริงของ ครูหวังเต๊ะ ศิลปินแห่งชาติ ผู้สร้างตำนานที่ยังมีลมหายใจ ลำตัดคณะหวังเต๊ะ ทุกคนจึงบอกอ๋อ แม้บนเวทีไทยโชว์วันนั้นจะไม่มี พ่อหวังเต๊ะร่วมแสดงด้วยอายุขัยที่มากและโรคภัยไข้เจ็บที่มารุมเร้า แต่ก็ไม่ทิ้งลาย ส่งแม่สีนวล ขำอาจ ศรีภรรยาและลูกศิษย์รุ่นใหญ่ รุ่นเล็กมาโชว์อย่างเต็มอิ่ม


มีคำกล่าวทีว่า “เมืองไทย ..เมืองกลอง” เห็นจะประจักษ์จริงก็ในตอน “ล้านนาเภรี” นี่แหละครับเฉพาะที่เรานำเสนอกลองภาคเหนือ(ล้านนา)ในวันนั้นไม่ว่าจะเป็น กลองชัย(ยะ)มงคล กลองปูชา กลองสะบัดชัยโบราณ กลองปูเจ กลองมองเซิงฯ ก็มากพอสมควร ยังไม่รวมกลองไทย ในภาคอื่นๆอีกนะครับ เพราะกลองเป็นเครื่องดนตรีที่ผูกพันอยู่ในวิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรมและศาสนา สิ่งที่ทีมงานฯดีใจที่สุดก็คือ การได้มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวของพ่อครูพัน-มานพ ยาระนะ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ทุ่มเทชีวิตจิตวิญญาณ ถ่ายทอดศิลปะการแสดงล้านนา “ศิลปินสูงวัยผู้ยิ่งใหญ่ แต่ทำตัวธรรมดาเข้าถึงง่าย ทุกเช้าจะปั่นจักรยานไปสอนเด็กๆ ระยะทางไปกลับกว่า 10 กิโลเมตร”


โจทย์สำคัญของเราคือการที่ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับรายการไทยโชว์มากที่สุดอย่างตอนลิเกทรงเครื่อง เรื่องพระอภัยมณี ตอน ปี่พิฆาต เราสร้างเรื่อง ต้องไปตามหาญาติพี่น้องท่านสุนทรภู่ ที่เมืองแกลง ระยอง โดยผู้ดำเนินรายการแปลงโฉม เป็นพระอภัยมณี และคุณรัตน์ โต้โผลิเก แปลงร่างเป็นแม่นางยักษ์ผีเสื้อสมุทร สร้างสีสันความสนุกสนานให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างดี

ส่วน ตอนละครนอก เรื่องไกรทอง ทีมงานก็เดินทางภาคสนามไปจังหวัดพิจิตร เมืองกำเนิดตำนานชาละวันเพื่อไปพูดคุยกับเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งทุกคนล้วนภาคภูมิใจและพาเราเดินทางไปชมแหล่งท่องเที่ยวตามที่ตำนานกล่าวไว้


คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวสรุปว่า เรื่องราวทั้งหมดที่ทีมงานไทยโชว์ คัดเลือกมานำเสนอคงถูกใจคุณผู้ชมที่พลาดโอกาสในคราวที่ผ่านมา และสำหรับปี พ.ศ. 2553 นี้เรายังมีศิลปะการแสดงของไทยที่หาชมได้ยาก ทุกถิ่น ทุกภาคมาฝากเช่นเคย สลับกับโชว์ดีๆจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะมาสร้างสีสันความสนุกสนานความร่วมสมัยอย่างจุใจ ตลอดปี

ติดตามชมรายการไทยโชว์ วันอาทิตย์ที่ 3 ม.ค. 53 เวลา 18.00 น. ทางทีวีไทย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาลัยไทยโชว์ บัวจริยา

แหล่ธรรมมะ พระพร ภิรมย์ โดย คมสันต์ สุทนต์