หนังใหญ่บางน้อย โดยคมสันต์ สุทนต์

สงัด ใจพรหม ครูช่างหนังใหญ่บางน้อย
ศิลปินดีเด่น สาขาทัศนศิลป์ จังหวัดสมุทรสงคราม ประจำปี 2542


ข้าไหว้พระเสร็จเรืองฤทธา ทศรถมหา
เป็นเจ้าสำหรับพระธรณี
ไหว้บาทวรนาถจักรี ในพื้นปัถพี
ผู้ใดจะเปรียบปานปูน ……………..
จากบทพากย์ไหว้ครูหนังในสมุทรโฆษคำฉันท์ (ประมาณ พ.ศ. 2200)

ถ้าพูดถึงหนังใหญ่ มหรสพไทยที่ว่ายิ่งใหญ่อลังการอย่างชื่อ ใครหลายคนคงเคยได้ดู ได้รู้ว่ายังพอหาชมได้ในรูปแบบสาธิตที่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี, วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง และวัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี
ใครบ้างจะรู้ว่าที่วัดบางน้อย อำเภอบางคณฑี ก็เคยมีหนังใหญ่เหมือนกัน?

นี่คือที่มาของการตามหาหนังใหญ่ สมุทรสงคราม เป็นการเดินทางที่ไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าแต่อย่างใด ตามคำบอกเล่านั้นว่ามีครูช่างท่านหนึ่งใช้ชีวิตวัยเกษียนอยู่ที่บ้านสวนหลังวัดบางน้อย ตอนแรกก็เข้าใจว่าน่าจะอยู่แถวตลาดน้ำบางน้อย ตลาดน้ำที่สงบเงียบเหมาะกับคนที่ไม่ชอบความพลุกพล่าน อยู่ในเขตอำเภอบางคณฑี ห่างจากตลาดน้ำอัมพวาประมาณ 5 กิโลเมตร แต่ก่อนชาวบ้านร้านถิ่นเขาเปิดขายของกันเฉพาะ 3, 8 และ 13 ค่ำ เดี๋ยวนี้เอาใจนักท่องเที่ยวเลยเปิดเสาร์-อาทิตย์ด้วย

พอไปถึงตลาดน้ำบางน้อย สอบถามผู้คนแถวนั้นเขาบอกว่า วัดบางน้อยต้องไปอีกหน่อย ไปเรือก็ได้ ขับรถก็ทะลุสวนเดี๋ยวก็ถึง ตรงนี้เขาเรียก บางน้อยนอก (วัดเกาะแก้ว)ส่วนที่ผมกำลังจะไปนั้นเรียก บางน้อยใน(วัดบางน้อย)

ผมขับรถลัดเลาะสวนผลหมากรากไม้ ขึ้นเส้นถนนใหญ่เข้าซุ้มประตูวัดบางน้อย วัดอยู่ทางขวามือ ส่วนโรงเรียนอยู่ด้านซ้ายมือ ซึ่งยังเป็นอาคารไม้แบบเดิมๆ ใครที่เคยเป็นนักเรียนประชาบาล เห็นแล้วต้องนึกวัยเด็กตอนเรียนประถมฯ สุดเขตอภัยทานต้องข้ามสะพานแคบพอดีรถเล็กข้าม รถใหญ่อย่างสิบล้อหมดสิทธิ์ข้าม กลับเข้าสู่สวนบรรยากาศสวนมะพร้าวผืนใหญ่ ตำบลยายแพง ผมนึกในใจไม่รู้สามีแกชื่อ ตาถูกหรือเปล่า ?.... ถามไถ่หนทางคนแถวนั้นไม่นานนักก็บึ่งมาถึงเป้าหมายยามบ่ายคล้อยจนได้

บ้านไม้ริมคลองตาหลวง ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นเขตจังหวัดราชบุรี เยื้องกันทางฝากกะโน้น ยังได้ยินเสียงผู้คนในชุมชนตีมีดกันดังเชิ้งชั๊งๆ อย่างกับเสียงประกอบหนังจีนกำลังภายใน คิดว่เป็นดนตรีประกอบจังหวะการแสดงเบิกโรงหนังใหญ่ซะเลย

“วัดบางน้อยแต่ก่อนสมัยหลวงพ่ออยู่ มีหนังใหญ่ราวๆ 30 0 ตัว ตอนสมัยประถมฯ ช่วงพักกลางวันผมกับเพื่อนยังเคยแอบขึ้นไปบนศาลา ไปหยิบหนังใหญ่มาเชิดเล่นเลย หลังหลวงพ่ออยู่มรณะภาพเขาก็เลิกเล่นหนังกันแล้ว แต่น่าเสียดายโดนไฟไหม้ไปพร้อมกับกุฏิศาลา โชคดียังเหลือให้เห็นเป็นบุญตา 10 ตัว ในซากเถ้ากองเพลิง” ครูสงัด ใจพรหม ชายวัย 83 ปี ที่ร่างรายยังแข็งแรงเดินเหินคล่องแคล่ว ขัดแย้งกับตัวเลขอายุ เริ่มต้นเล่าถึงหนังใหญ่ให้ฟังด้วยน้ำเสียงเมตตายิ่งนัก เสมือนว่าผมเป็นศิษย์ หรือลูกหลานคนหนึ่งของท่าน

“ผมเคยไปสำรวจหนังใหญ่หลายที่ อย่างวัดขนอน จังหวัดราชบุรี ตัวหนังส่วนใหญ่เป็นฝีมือช่างท้องถิ่น บางตัวที่มีฝีมือเด่นๆ น่ามาจากช่างของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ (พ.ศ.2406-2490) ซึ่งหลวงปู่กล่อม อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน(พระครูศรัทธาสุนทร พ.ศ.2391 – 2485) กับหลวงพ่ออยู่ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางน้อยเป็นเพื่อนเกจิอาจารย์และมีหนังใหญ่เหมือนกัน แต่ท่านจะเด่นทางด้าน ดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล...

...ที่เพชรบุรี วัดพลับพลาไชย ก็มีตัวหนังใหญ่ แต่ไม่รู้ว่าใครทำ(ช่างสร้างหนังใหญ่) เพราะไฟไหม้ไปหมดแล้วเหมือนกัน และที่อัมพวานี่สมัยก่อนก็มีช่างแกะหนังใหญ่ชื่อนายดี พ่อของครูเอื้อ สุนทรสนาน และที่วัดราษฎร์บูรณะ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา ก็เคยมีหนังใหญ่ แต่ลูกหลานเจ้าของเดิมเขาขายยกตับทั้งหมดให้ต่างประเทศไปแล้ว..”

ผมเอง(ผู้เขียน)ก็อดสงสัยไม่ได้ทำไมหนังใหญ่ต้องประสบชะตากรรมหรืออาภรรพ์? ไฟไหม้ ไม่งั้นก็ถูกขายทอดต่างประเทศ
หนังใหญ่หนุมาน ว่ายน้ำกลับวัด

“เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น เมื่อตอนที่คณะหนังใหญ่วัดวัดราษฎร์บูรณะฯ เขากลับจากงานแสดงงานหนึ่ง แล้ว
มีหนังตัวหนุมาน ทหารเอกพระรามเกิดพลัดตกน้ำ ในแม่น้ำแม่กลองนี่แหละ งมหาอย่างไรก็ไม่เจอ แต่พอมาถึงวัดฯ หลวงพ่อเจ้าอาวาสบอกว่าหนังใหญ่หนุมานว่ายมาถึงวัดก่อนแล้ว ..สร้างความประหลาดใจให้กับชาวคณะหนังใหญ่ และเป็นเรื่องล่ำลือถึงปาฏิหารย์สืบต่อกันมา”

...วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี ผมก็ไป ได้รู้จักกับเพื่อนต่างวัย ครูวีระ มีเหมือน ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านหนังใหญ่ และมหรสพไทย เขาอายุอ่อนกว่าเยอะ โน่นเจอกันครั้งแรกตอนประกวด(ต้น)โกศล ตั้งแต่ก่อนที่ผมจะปลดเกษียน คุยกันไปมาก็เลยรู้ว่าชอบพอเรื่องหนังใหญ่เหมือนกัน เขาไปสอนอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์

..บ้านพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ของเขา ที่สามโก้ จังหวัดอ่างทอง ผมก็เคยไปติดอยู่ว่าเข้าไปกลางทุ่งนาลึกจังเลย เขาเองก็เอาแบบลายบางชิ้นที่ผมเขียนไปสร้างตัวหนังใหญ่เก็บไว้ที่นั่น” ครูสงัดจะเน้นให้ความสนใจกับงานช่างสร้างตัวหนังใหญ่เป็นพิเศษ เพราะครูไม่ใช่ศิลปินนักดนตรีหรือนักเชิดหนัง แต่เป็นครูช่าง

ถ้าย้อนชีวิตกับไปหลังจากที่ท่านเรียนจบชั้นประถมที่โรงเรียนวัดบางน้อยใน และเรียนมัธยมที่โรงเรียนสายธรรมจันทร์ จังหวัดราชบุรี ก็ได้ไปเรียนต่อทีโรงเรียนเพาะช่าง (วิทยาลัยเพาะช่างในปัจจุบัน) จนจบวุฒิประโยคครูประถมการช่าง สาขาวิจิตรศิลป์ และวุฒิประโยคครูมัธยมการช่าง สาขาประติมากรรม

กลับบ้านมารับราชการในตำแหน่งครูจัตวา ประจำกรมวิสามัญศึกษา พ.ศ.2496 ไปเป็นครูตรีโรงเรียนสกลวิสุทธิ์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม พ.ศ 2515 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ 2 ระดับ 6 โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ 2531

ครูช่างคนนี้ได้สร้างผลงานไว้อย่างมากมาย ที่โดดเด่นคุ้นตากันดี คือ ออกแบบและปั้นรูปเหมือนรัชกาลที่ 5 หรือพระบรมรูปทรงม้า ณ บริเวณ หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม และออกแบบปั้นหุ่นแฝดสยามอิน-จัน ฝาแฝดที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

นอกนั้นยังมีงานออกแบบและปั้น พระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ที่ค่ายบางกุ้ง, รูปเหมือนเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ วัดบางแคใหญ่, ปราสาทจัตุรมุขหน้าวัดภุมรินทร์กุฎีทอง, อนุสาวรีย์หลวงปู่เหมือน และพระครูสมุทรสุธี วัดกลางเหนือ, พระรูปเหมือน หลวงปู่เอี่ยมวัดปากลัด, ปราสาทจัตุรมุข สำหรับประดิษฐานพระบรมรูปท่านเจ้าคุณ พระราชสมุทรเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติการาม, พระรูปเหมือนหลวงปู่หอม วัดเหมืองใหม่, ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างลายอุโบสถวัดบางน้อยและศาลาวิหารหลวงพ่ออยู่, ซุ้มทรงไทยจตุรมุข ทางเข้าวัดบางน้อยใน, ซ่อมพระพุทธรูปศิลาแลง จำนวน 5 องค์ ที่ถูกทำลายเสียหายให้อยู่ในสภาพเดิม โดยใช้ปูนตำแบบโบราณ, ปั้นรูปพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อไปประดิษฐานที่จังหวัดตราด เป็นต้น

แล้วครูช่างผู้มีฝีมือในงานปั้นชั้นเยี่ยมยอดอย่างครูสงัด ใจพรหม ทำไมถึงได้มาสนใจงานหนังใหญ่ ?

“หลังจากเรียนเพาะช่าง พบว่าตนเองทำงานทางด้านศิลปะได้ดี โดยเฉพาะลายไทย เพื่อนเห็นก็เอามาให้เขียนให้แก้ มีคนเอามาให้ออกแบบ ปั้นลายบ้าง ก็ทำตั้งแต่นั้นมา แต่หนังใหญ่นี่เป็นเรื่องที่ชอบฝังใจผูกพันธ์กันมาตั้งแต่เด็ก และคิดว่ามันน่าจะเป็นตัวเรามากที่สุด...เลยอยากกลับมาฟื้นชีวิตให้ตัวหนังบางน้อยบ้านผมอีกครั้ง...”
แบ่งอายุหนังใหญ่ตามลวดลายและรอยตอกตุ๊ดตู่

“ผมแบ่งยุคสมัยหนังตามฝีมือครูช่างหนังใหญ่สมัยรัตนโกสินทร์ 3 รุ่นด้วยกันคือ รุ่นแรก พระพรหมวิจิตร ช่วงราวสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งจะมีลวดลายวิจิตรละเอียด ใช้ตุ๊ดตู่ตอกรูไล่เล็กใหญ่ลดหลั่นหลายขนาด, รุ่นสอง พระเทวาภินิมมิต(ฉาย เทียมศิลป์ชัย : พ.ศ.2431-2485) เป็นศิลปินเอกท่านหนึ่งของไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕-๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จะตอกลายตุ๊ดตู่สองชั้น และรุ่นสาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์ (พ.ศ.2406-2490) ใช้ตุ๊ดตู่ตัวเดียวตอกเกือบทั้งตัว...
..หนังใหญ่วัดบางน้อย น่าจะเป็นผลงานของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงษ์

ผมพยายามตามหาหนังใหญ่ที่เยอรมัน ติดต่อผ่านไปยังสถานทูตพบว่ามีอยู่จริงประมาณ 300 ตัว ในพิพิธภัณฑ์ประเทศของเขา เจตนาคืออยากขอถ่ายรูป เพื่อจะมาเทียบกับชุดแรกที่โดนไฟไหม้ (วัดบางน้อย? หรือ ที่โรงละครแห่งชาติ ชุดหนังใหญ่ “พระนครไหว”?) แล้วนำมาวาดลาย แกะตัวหนังใหม่เท่านั้นเอง ไม่ได้ไปคิดทวงคืนอะไร แต่เขาไม่อนุญาตให้ไปถ่ายรูป?...ครูสงัดจึงใช้วิธีรวบรวมรวมภาพหนังใหญ่ตามหนังสือหรือโปสการ์ดเก่าๆ

“...จากนั้นมาก็รวบรวมภาพไว้ตั้งแต่ยังไม่ปลดเกษียณ คิดว่าจะอนุรักษ์หนังใหญ่ ทำยังไงดี? มีความคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ตั้งใจจะเปิด “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น” ขึ้นที่ข้างบ้านผมนี่แหละ เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนให้นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวได้มาดู มาศึกษาหนังใหญ่ แบบไม่ทิ้งรูปแบบดั้งเดิม โดยผมปรึกษาหารือกับลูกศิษย์ลูกหาทุกรุ่นที่เคยสอนเขามาให้ทอดผ้าป่าการศึกษา แล้วจากนั้นให้พวกเขาเป็นผู้จัดการดูแล ถึงถ้าผมไม่อยู่เขาก็สามารถช่วยกันสืบสานดำเนินการต่อได้”
ไม่นานเกินรอนักท่องเที่ยวและผู้สนใจก็จะสามารถเดินทางไปพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ของครูช่างหนังใหญ่ “สงัด ใจพรหม”

ทนายผู้คอยความ เร่งตามไต้ส่องเบื้องหลัง
จงเรืองจำรัสทัง ทิศาภาคทุกภาย
จงแจ้งจำหลักภาพ อันยงยิ่งด้วยลวดลาย
ให้เห็นแก่ทั้งหลาย ทวยจะดูจงดูดี”
จากบทพากย์ไหว้ครูหนังในสมุทรโฆษคำฉันท์ (ประมาณ พ.ศ. 2200)

ข้อมูลศิลปิน
อาจารย์สงัด ใจพรหม ปัจจุบันอายุ 83 ปี ( สัมภาษณ์ พ.ศ.2554) อยู่บ้านเลขที่ 31 หมู่ 2 ต.ยายแพง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ภรรยาชื่อ นางบุญเยื่อ ใจพรหม ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ มีบุตรสาว 2 คน

บรรณานุกรม
เสรี มั่นมาก. เปิดกรุนักประติมากรรม เมืองแม่กลองผู้ที่ปิดทองหลังพระ ตลอดกาล. หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม 2550

สัมภาษณ์
สงัด ใจพรหม, ศิลปินดีเด่น สาขาทัศนศิลป์ จังหวัดสมุทรสงคราม ประจำปี 2542. สัมภาษณ์, 27 มิถุนายน 2554
ครูช่างหนังใหญ่บางน้อย โดยคมสันต์ สุทนต์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาลัยไทยโชว์ บัวจริยา

แหล่ธรรมมะ พระพร ภิรมย์ โดย คมสันต์ สุทนต์