ไทยโชว์ อาทิตย์ที่ 15 และ 22 พฤศจิกายนนี้ “เพาะกล้า พันธุ์เก่ง เพลงพื้นบ้าน”
















คมสันต์ไทยโชว์ดีใจ ได้ 20 เพชรเม็ดงามประดับวงการเพลงพื้นบ้าน


สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ThaiPBS) โดยรายการไทยโชว์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยกองส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมกันจัดโครงการค่าย “เพาะกล้า พันธุ์เก่ง เพลงพื้นบ้าน” เปิดรับสมัครเยาวชนไทยชาย - หญิง อายุระหว่าง ๑๕ - ๒๕ ปี จำนวน๒๐ คน แบ่งเป็น ชาย ๑๐ คนและหญิง ๑๐ คน ที่มีความสนใจและมีความสามารถทางด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน เข้าค่าย New Gen FS ระหว่างวันที่ ๑ - ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเรียนรู้และฝึกปฏิบัติกับครูศิลปินแห่งชาติ อาทิ แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ และครูชินกร ไกรลาศ ตลอดระยะเวลาการเข้าค่ายได้มีการทดสอบการแสดง และประเมินผล เพื่อเก็บคะแนนสะสม และในวันสุดท้ายปิดค่าย น้องๆเยาวชนทุกคนจะได้มีโอกาสแบ่งกลุ่มสร้างสรรค์ออกแบบรูปแบบการแสดงอย่างอิสระ เพื่อนำเสนอในรายการไทยโชว์

ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนเต็มนะครับ ที่เยาวชน 20 คน ที่ฝ่าด่านแรกจากจำนวนผู้สมัครกว่า 100 คน ได้มีโอกาสเข้าค่าย “เพาะกล้า พันธุ์เก่ง เพลงพื้นบ้าน” ซึ่งเชื่อเหลือเกินครับว่า พวกเขาได้รับความรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างคุ้มค่า จริงๆ
คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการไทยโชว์ กล่าวนำ และเล่าต่อไปว่า

เพราะวันแรกที่น้องๆเข้าค่ายก็ได้รับการปูพื้นฐานความรู้เรื่องเพลงพื้นบ้านจาก รองศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา ผู้อำนวยการศูนย์คติชนวิทยาและภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้ไปคาราวะ อาจารย์อเนก นาวิกมูล และทัศนศึกษา ณ บ้านพิพิธภัณฑ์ นักวิชาการอิสระที่เก็บรวบรวมเรื่องราวของเพลงพื้นบ้านภาคกลางไว้ได้อย่างครบเครื่อง และเป็นคนเขียน หนังสือ เพลงนอกศตวรรษ ที่เป็นเหมือนแรงบันดาลให้ผมเอง เกิดความรักและสนใจในเพลงพื้นบ้าน

แล้วค่ายเพลงพื้นบ้านฯ ครั้งนี้ยังแบ่งย่อยเป็นค่ายเตรียมดิน น้องๆจะได้อบรมศิลปะการแสดงกับครูหนุ่ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ เกิดอรุณสุขศรี และฝึกอบรมการฝึกพลังเสียงกับครูอัยย วีรานุกูล ศิลปิน
นักร้องและโปรดิวเซอร์รายการไทยโชว์ของเรานี่เอง

ส่วนค่ายย่อยที่สองคือค่ายเพาะกล้า น้องๆได้เดินทางไปฝึก “ร้องเพลงเป็นภาพ..ซาบซึ้ง” กับครูชินกร
ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2541 และเดินทางไป
ที่สุพรรณบุรี บ้าน แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ปี 2539
เพื่อมากินนอนฝึกเพลงพวงมาลัย และเพลงเต้นกำ ระหว่างทาง ๆ ผ่านลาดหลุมแก้ว น้องๆได้แวะคาราวะกับครูหวังเต๊ะ นิมา ศิลปินแห่งชาติปี สาขศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) ปี 2531 และแม่สีนวล ขำอาจ พ่อเพลงแม่เพลงลำตัดชั้นครู

ค่ายย่อยด่านที่สามก็คือ ค่ายรดน้ำ น้องๆได้มีโอกาสไปฝึกฝนร้องเพลงเรือและพายเรือกันจริงๆ ที่วัดมะเกลือ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม คุณผู้ชมต้องจับตาดูให้ดีเพราะมีช็อตเด็ดที่จะ สร้างความตื่นเต้นเคล้าคราบน้ำตา ให้เห็นกันทีเดียว

ค่ายย่อยที่สี่คือ ค่ายฟักกล้า น้องๆได้ไปทัศนศึกษาและร่วมโชว์การแสดงร้องเพลงเรือ ที่ตลาดน้ำ อยุธยา คลองสระบัว สร้างเสียงฮือฮา ความสนุกสนานให้กับนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อย

และน้องเยาวชนค่ายเพลงพื้นบ้านฯได้ร่วมพิธีไหว้ครู ครอบครูนาฏศิลป์และดนตรีไทย ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยหอการค้า เรียกว่า เป็นศิษย์มีครูอย่างสมบูรณ์แบบ หลังจากวันนั้นก็ได้ไปแสดงเปิดหมวก
ที่ข่าวสารพาเลซ ถนนข้าวสาร เพื่อทดสอบวิชาและความกล้า ให้แกร่งมากยิ่งขึ้น

ค่ายย่อยสุดท้าย “ค่ายผลิกล้า” น้องๆจะได้เรียนรู้การร้องและแต่งเพลงอีแซวจากแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์และพ่อเพลงแม่เพลงชั้นครู ช่วงกลางคืนก็ได้ไปเปิดหูเปิดตาเที่ยวงานวัดป่าเลไลย์ ซึ่งที่นี่แหละครับเมื่อก่อนเป็นแหล่งประชันฝีปากของพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านรุ่นปู่รุ่นย่าจนมาถึงปัจจุบัน

แล้วก็มาถึงวันสุดท้ายของค่ายเพลงพื้นบ้านฯ ที่ทุกคนรอคอย ลุ้นว่าน้องๆ คนไหน1 ใน 20 คนจะได้
ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และที่สำคัญกว่านั้น น้องๆทุกคนจะได้ประชันฝีปากร้องเพลงพื้นบ้านกันบนเวทีไทยโชว์ครับ”

คมสันต์ พูดปิดท้ายว่า
สิ่งสำคัญที่น้องๆ ทั้ง 20 คนได้รับคงไม่ใช่รางวัล แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องของโอกาสมากกว่าเพราะทุกคนโชคดีที่มีผู้ใหญ่ใจดี ทั้งทีวีไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ส่งเสริมสนับสนุนเพาะกล้าโครงการดีๆแบบนี้ ซึ่งทราบข่าวว่าจะทำกันอย่างต่อเนื่องและขยายพันธุ์เก่งให้ใหญ่ขึ้น น่าชื่นใจกับเมืองไทยนะครับ ที่เราได้ 20เพชรน้ำงาม มาประดับวงการเพลงพื้นบ้านไทยของเรา


เพชรน้ำงามเม็ดไหนจะได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพฯ และตลอดเกือบหนึ่งเดือนเต็มเด็กๆ ทั้ง 20 คน ต้องเรียนรู้ เจอะเจอประสบการณ์ตื่นเต้นอะไร ลุ้นและสนุกสนานไปกับพวกเขาได้ ในรายการไทยโชว์ ตอน “เพาะกล้า พันธุ์เก่ง เพลงพื้นบ้าน 1-2” วันอาทิตย์ที่ 15 และ 22 พฤศจิกายน 2552 เวลา 18.00 น. สามารถชมรายการย้อนหลังได้ทาง www.thaipbs.or.th/Thaishow

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาลัยไทยโชว์ บัวจริยา

แหล่ธรรมมะ พระพร ภิรมย์ โดย คมสันต์ สุทนต์