คมสันต์ ไทยโชว์ พาลัดเลาะเกาะเกร็ดและปทุมธานี สัมผัส ปัวฮะเปิ่น-มอญรำ ต้นตำหรับ

ข่าวประชาสัมพันธ์ไทยโชว์
คมสันต์ ไทยโชว์ พาลัดเลาะเกาะเกร็ดและปทุมธานี สัมผัส ปัวฮะเปิ่น-มอญรำ ต้นตำหรับ วันอาทิตย์ 20 มิถุนายนนี้

คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการและทีมงานไทยโชว์ พาลัดเลาะเกาะเกร็ด นนทบุรีและเมืองปทุมธานี เพื่อสัมผัสต้นตำหรับการแสดงชั้นสูงของชาวไทยรามัญที่เรียกว่า “ปัวฮะเปิ่น-มอญรำ 12 ภาษา” และนับเป็นครั้งแรกบนจอทีวีเมืองไทยที่จะได้เห็น มอญรำ รำพร้อมกันทีเดียว 2 จังหวัด ในรายการไทยโชว์ ตอน “มอญรำ ไทยรามัญ” วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2553 เวลา 18.00 น.

คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการไทยโชว์ เล่าให้ฟังถึงโชว์ มอญรำ ครั้งนี่ว่า
“มอญรำ เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาวไทยรามัญ ซึ่งจะแสดงในงานสำคัญๆอย่างการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง วันรดน้ำผู้ใหญ่ วันสงกรานต์ งานสมโภช งานฉลองต่าง ๆ และงานศพ โดยเฉพาะศพพระชั้นผู้ใหญ่ แม้แต่ในงานราชพิธีสำคัญ งานเฉลิมฉลองของไทยนับจากอดีตจนปัจจุบัน มักโปรดฯ ให้มีการแสดงมอญรำด้วยทุกครั้ง เพราะถือว่าเป็นการแสดงชั้นสูง ดังเช่น จารึกที่วัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด กล่าวถึงมหรสพในงานฉลองสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จารึกไว้ ดังนี้
มหรสพ ครบเครื่องฟ้อน ประจำงาน โขนหุ่น ละครขาน พาทย์ฆ้อง มอญรำ ระบำการ จำอวด เอิกเอย ครึกครื้น กึกปี่ก้อง จวบสิ้นการฉลอง

ชาวไทยรามัญเรียกการแสดงนี้ว่า ปัวฮะเปิ่น ปัว แปลว่า มหรสพ ฮะเปิ่น แปลว่า ตะโพน ซึ่งแปลตรง ๆ หมายถึงงานแสดงมหรสพที่อาศัยตะโพนเป็นหลัก ในการแสดงนั้นนักดนตรีและผู้รำจะต้องเข้าใจกัน โดยผู้รำจะต้องทิ้งมือให้ลงกับจังหวะของตะโพน..
มอญรำในอดีตนี่ ถือว่าเป็นวิชาหนึ่งที่หญิงชาวไทยรามัญจะต้องเรียนรู้ เพื่อแสดงออกถึงความเป็นสตรีชาวไทยรามัญอย่างแท้จริง ด้วยลีลาอันอ่อนช้อยเรียบง่าย แต่ก็แฝงไปด้วยความประณีตในการร่ายรำ โดยผู้อาศัยจังหวะตะโพนมอญเป็นหลัก การเคลื่อนตัวจะเอนตัวอย่างอ่อนช้อยกระเถิบเท้าไปทีละน้อย ๆ ตามจังหวะของกลอง นางรำจะเหยียดมือทั้งสองออกรำในท่านิ่งอยู่กับที่ พร้อมเคลื่อนไหวลำตัว เมื่อรำจบแต่ละเพลง ก็จะทิ้งมือลงที่หน้าขาทั้งสอง ปี่พาทย์จะขึ้นเพลงใหม่ ผู้รำมอญจะแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าซิ่นยาวกรอมเท้า ใส่เสื้อแขนกระบอก พาดผ้าสไบไหล่เดียวหรือคล้องคอปล่อยชายให้ห้อยอยู่ข้างหน้าทั้งสองชาย ใช้สีอะไรก็ได้ครับ”
คุณยายปรุง-มะลิ วงศ์จำนง ครูอาวุโสต้นตำหรับมอญรำ เล่าให้ผมและรายการไทยโชว์ฟังถึงความเป็นมาของรำมอญเกาะเกร็ดว่า..ได้รับถ่ายทอดมาจากคุณย่าปริก โดยพี่ชายของย่าปริก เป็นนักดนตรีปี่พาทย์มอญ เคยไปรับจ้างแสดงดนตรีที่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า)และได้ไปพบท่ารำมอญโบราณ จึงศึกษาแล้วนำมาถ่ายทอดให้กับน้องสาว คือย่าปริกอีกทีหนึ่งโดยมีอยู่ 12 รำท่าซึ่งจะได้ชมครบถ้วนใน รายการไทยโชว์ดังนี้
รำมอญท่าที่ : 1 ฮาฮุยฮากะ (โปรยข้าวตรอก)
รำมอญท่าที่ : 2 ฮะบะทาน (1), (สังเวย)
รำมอญท่าที่ : 3 ฮะบะทาน (2)
รำมอญท่าที่ : 4 ฮะบะทาน (3)
รำมอญท่าที่ : 5 เปริงอย่างเปราะ (เร็วขึ้น)
รำมอญท่าที่ : 6 ฮะบะทาน (4)
รำมอญท่าที่ : 7 อะโมตะตา (พ่อแม่พี่น้อง)
รำมอญท่าที่ : 8 โปดโทน (แบบมอญ)
รำมอญท่าที่ : 9 ฮะบายคะนอจิน (ขนมจีนน้ำยา)
รำมอญท่าที่ : 10 กะเลียงเกิง (กลับเมือง)
รำมอญท่าที่ : 11 เปริงเประฮะเระ (ตะโพน-เสียงสั้น)
รำมอญท่าที่ : 12 เปริงเประฮะเริน (ตะโพน-เสียงยาว)

คมสันต์ สุทนต์ ผู้ดำเนินรายการไทยโชว์ เล่าให้ฟังปิดท้ายว่า
นอกจากนี้ผมและทีมงานไทยโชว์ ยังเดินทางไปเมืองปทุมธานี เพื่อบันทึกภาพ มอญรำ 12 ภาษา/ท่า มาให้ชมพร้อมๆกัน เพื่อจะได้เห็นความงดงามที่ทั้งเหมือนและต่างกันในกระบวนเพลงและท่ารำ ซึ่งผมเองมองว่าศิลปะแม้จะเป็นอย่างเดียวกันแต่พอแยกย้ายไปอยู่ต่างท้องถิ่นก็ย่อมมีความแตกต่างกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่ชาวไทยรามัญทั้งสองแห่งเหมือนกันคือ การสืบทอดศิลปะการแสดงมอญรำ ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นควรค่าแก่การเป็นแบบอย่างและที่สำคัญคือ เป็นครั้งแรกบนจอทีวีเมืองไทยที่จะได้เห็น มอญรำพร้อมกันที่เดียว 2 จังหวัด
ครับ
ติดตามรายการไทยโชว์ตอน“มอญรำ ไทยรามัญ” วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2553 เวลา 18.00 น.
ดูรายการย้อนหลังได้ทาง www.thaipbs.or.th/Thaisho w

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาลัยไทยโชว์ บัวจริยา

แหล่ธรรมมะ พระพร ภิรมย์ โดย คมสันต์ สุทนต์