ครูหมัด จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต

ครูหมัด จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต :
มือฆ้องสุดยอดในตำนานประชันปี่พาทย์ แห่งสำนักบ้านบางลำพู
คมสันต์วรรณวัฒน์ สุทนต์ เรียบเรียง

ครูหมัด หรือบางท่านที่สนิทชิดเชื้อก็จะเรียกอย่างเป็นกันเองว่า “ป๋าหมัด” จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต ผมถือว่าท่านเป็นมือฆ้องสุดยอดในตำนานประชันปี่พาทย์ แห่งสำนักบ้านบางลำพู -ดุริยประณีต

ครู(จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต) เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม 2479 เป็นบุตรชายคนที่สอง ของครูชั้น ดุริยะประณีต และคุณแม่จิตรา (นามสกุลเดิม โชติมัย) เป็นหลานปู่ศุข - ย่าแถม ดุริยประณีต

ตอนเล็กๆ ซัก สามสี่ขวบ ก็ตามครูผู้ใหญ่ในบ้าน ไปตีเครื่องประกอบจังหวะกับวงปี่พาทย์ลิเกคณะหอมหวล ที่วิกตลาดทุเรียน แล้วจึงมาเริ่มฝึกฆ้องกับปู่ศุข ดุริยประณีต, ครูหงส์, ครูอยู่ พวงพรหม เรียนเครื่องหนังเพิ่มเติมจากครูโชติ ดุริยประณีต และหม่อมหลวงสุรักษ์ (ป๋าตู๋) สวัสดิกุล

แล้วมาเข้าโรงเรียนนาฏศิลป ชื่อเรียกสมัยนั้น ได้ต่อเพลงกับ ครูหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนวิลัย) จากนั้นเรียนต่อเดี่ยวฆ้องวงใหญ่จากครูสอน วงฆ้อง เริ่มตั้งแต่เดี่ยวเพลงแขกมอญสามชั้น ไปจนถึงกราวในและทยอยเดี่ยวสูงสุด

ครูได้จับมือครอบเครื่องหนังจากท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) แล้วรับมอบเป็นครูดนตรี จากคุณครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ และครูสอน วงฆ้อง

เริ่มทำงานที่กองดุริยางค์ทหารบก แล้วโอนย้ายมาอยู่กองการสังคีต กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2535

ได้รับเชิญไปสอนดนตรีให้กับศิษย์หน่วยงานสถาบันต่างอาทิ ภาควิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้เขียน : ได้ทันเรียนวิชาเครื่องหนังและเครื่องประกอบจังหวะ 2 กับครูหมัด ท่านมาสอนสืบต่อจากครูสมพงษ์ นุชพิจารณ์) ,ชมรมดนตรีไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และโรงเรียนอนุบาลจุไรรัตน์ เป็นต้น

ผลงานเพลงที่ครูแต่งไว้ได้แก่ โหมโรงพระจอมเกล้า 3 ชั้น, เพลงพญากุญชร เถา, เพลงนวมหาราช เถา, เพลงจำปานารี เที่ยวเปลี่ยน ส่วนเพลงดี่ยวได้แต่งเดี่ยวเพลงสารถี 2 ชั้น –ชั้นเดียว เดี่ยวฆ้องมอญเพลงเทพนิมิตร, เพลงเทพบรรทม, เพลงอาเฮีย, เพลงสาริกาชมเดือน, เพลงนกขมิ้น ฆ้อง 6 ลูก และเดี่ยวแขกมอญฆ้อง 8 ลูก เป็นต้น

เคยบรรเลงเดี่ยว(เดี่ยวชัยมงคล)หน้าพระที่นั่ง ถวายแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เดี่ยวฆ้องวงใหญ่ เพลงม้าย่องสามชั้น (ผู้เขียน : สามารถเข้าไปชมได้โดย คลิกที่ชื่อเพลงม้าย่องสามชั้น)

ในความทรงจำของผม ครูหมัดเป็นคนอารมณ์ดี มีเมตตากับศิษย์พูดตรงๆ ใจนักเลง ผมชอบฟังท่านเล่าเรื่องราวการประชันปี่พาทย์ มาอย่างโชกโชน... ผม ได้เจอและเข้าไปกราบครูก่อนครูไม่สบาย(มาก) คราวงานฉลองครบอายุ 80 ปี แม่จิตต์ -ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑

ป๋าตู๋-หม่อมหลวงสุรักษ์ สวัสดิกุล เคยเล่าให้ผมฟัง (ประมาณ พ.ศ. 2534-2537) ช่วงที่ผมเคยไปต่อฆ้องกับท่านที่บ้านซอยพญานาคว่า “ทั้ง(ครู)หมัด และ (อาจารย์) นิกร (จันทศร) เป็นลูกศิษย์ครูสอน (วงฆ้อง) ที่ตีฆ้องได้ดีเยี่ยมไหวทั้งคู่ แต่(ครู)หมัด ถนัดซ้าย (อาจารย์)นิกร ถนัดขวา เดี่ยวเพลงเดียวกัน ครูจะต่อมือต่างกัน”

นี่เป็นคำบอกเล่าเท็จจริงเป็นเช่นไร ต้องขอความรู้จาก อาจารย์นิกร จันทศร ปรมจารย์ฆ้องวงใหญ่ และลูกศิษย์ลูกหาของครูทั้งสองท่านช่วยพิจารณาตามความเหมาะสม

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าใจหายมากกว่าคือ วานนี้ 23 สิงหาคม 2554 มือฆ้องสุดยอดในตำนานประชันปี่พาทย์ แห่งสำนักบ้านบางลำพู –ดุริยประณีต ครูหมัด จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต ได้จากพวกเราลูกศิษย์ลูกหาไปแล้ว...

อานิสงค์จากการอนุโมทนาบุญ หลังจากได้อ่านบทความระลึกถึงความดีงามใดๆ ขอน้อมอุทิศส่งตรงไปถึงครู จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต ทั้งหมด หากมีข้อความใดพลั้งพลาด ผู้เขียนกราบขออภัยท่านผู้อ่านมา ณ ที่นี้


ข้อมูลจาก
•ความทรงจำดีๆที่ได้เคยพูดคุยกับครูหมัด-จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต และ ป๋าตู๋ -หม่อมหลวงสุรักษ์ สวัสดิกุล
•บ้านบางลำพู :ชุมชนดนตรีไทยชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ของกรุงเทพฯ /ณรงค์ เขียนทองกุล ; สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ
•การสืบทอดเพลงไทยบ้านบางลำพู : วัฒนธรรมมุขปาฐะ มานพ วิสุทธิแพทย์ และคณะ ปี พ.ศ. 2544


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาลัยไทยโชว์ บัวจริยา

แหล่ธรรมมะ พระพร ภิรมย์ โดย คมสันต์ สุทนต์