“คมสันต์” พิธีกรรายการไทยโชว์ เชิญชม “รำโทน รำวง สงคราม ความรัก”




คมสันต์ สุทนต์ พิธีกรหนุ่มอารมณ์ดี รายการไทยโชว์ เชิญคนไทยทั้งประเทศ สนุกสนานกับโชว์ศิลปะการแสดงไทย “รำโทน รำวง สงคราม ความรัก”

“รำโทน รำวง สงคราม ความรัก” เป็นชื่อตอนล่าสุดของรายการไทยโชว์ ที่ไม่ได้แค่ผูกคำให้สวยฉงนอย่างเดียว แต่เป็นตอนที่ทีมงานไทยโชว์ได้บรรจงเรียงร้อยสาระและความบันเทิงไว้อย่างครบเครื่อง”
คมสันต์ เกริ่นนำ ก่อนเล่าข้อมูลเพิ่มเติมรายการไทยโชว์ตอนสำคัญนี้

“รำโทนก็คือการละเล่นของคนไทยที่นิยมเล่นกันมากในแถบภาคกลาง ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
มีกลองโทน ที่ตีดัง ป๊ะๆ โทนๆ เล่นประกอบการร้องรำ เสียงกลองและชื่อกลองนี่แหละเป็นที่มาของชื่อรำโทน
ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านให้กรมโฆษณาการหรือกรมประชาสัมพันธ์และกรมศิลปากรร่วมกันพัฒนารำโทนของชาวบ้านให้มีรูปแบบดนตรีและนาฏศิลป์เป็นแบบแผนมากยิ่งขึ้น จึงทำให้เกิด รำวงมาตรฐาน จำนวน 10 เพลง เริ่มจากเพลงงามแสงเดือน(งามแสงเดือน มาเยือนส่องหน้า) ไปจบเพลงสุดท้ายที่เพลงบูชานักรบ
“รำโทนไม่ได้แตกหน่อไปแค่รำวงมาตรฐานเท่านั้น แต่ต่อยอดไปเป็นเชียร์รำวง, เพลงลูกทุ่ง, เพลงลูกกรุงและเพลงสุนทราภรณ์ด้วยครับ..คณะรำวงที่เป็นตำนานก็คือ รำวงคณะสามย่าน ที่มีผลงานติดหู ติดปากอย่างเพลงอยุธยา (อยุธยา เมืองเก่าของเราแต่ก่อน..) และเพลงบางระจัน(ศึกบางระจัน จำให้มั่นพี่น้องชาติไทย) ส่วนเพลงลูกทุ่งก็มีนักร้องครูเพลงหลายท่านไม่ว่าจะเป็นครูเบญจมินทร์, ครูสุรพล สมบัติเจริญ ครูชาย เมืองสิงห์(เช่น เพลงเรียมเคยรำ) เป็นต้น ที่ได้นำเพลงรำโทนหรือรำวงมาพัฒนาเนื้อร้องและทำนองจนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ส่วนวงสุนทราภรณ์ก็หยิบจังหวะรำวงมาสร้างสนุกบนฟลอร์เต้นรำลีลาศ ไม่ว่าเพลงรำวงสถาบันศึกษา รำวงที่เกี่ยวกับเทศกาล อย่างเพลงวันเพ็ญเดือนสิบสอง (น้ำคะนองเต็มตลิ่ง) ที่ฮิตยาวนานสุดๆ ขนาดชาวต่างประเทศยังร้องตามได้”..

“โชคดีที่ทีมงานไทยโชว์ได้มีโอกาสถามพ่อเพลงแม่เพลง ครูอาวุโสผู้ร่วมเหตุการณ์ทันยุคสมัยนั้น รวมทั้งนักวิชาการที่ท่านได้ศึกษาด้านเพลงรำโทน รำวงนี้โดยตรง อย่างครูใหญ่(สมาน) นภายน ซึ่งเป็นศิลปินอาวุโสและปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ก็ได้เมตตาให้ข้อมูลลำดับวันเดือนปี ทุกเหตุการณ์อย่างละเอียด แถมพกความฮาสนุกสนาน อารมณ์เดียวกับที่ได้อ่านงานเขียนของครูใหญ่ ในต่วย’ตูน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับที่มาที่ไปของเพลงรำโทนรำวง ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง, แนวคิด “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” และ “มาลานำไทย” สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม..
นอกจากนั้นยังได้มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.สุกัญญา สุจฉายา ผู้อำนวยการสถาบันคติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงาน“เพลงปฏิพากย์” หนังสือวิชาการที่ใครพูดถึงเพลงพื้นบ้านต้องเปิดอ่านและอ้างอิงกันเสมอ ซึ่งรศ.สุกัญญา ได้ให้ความรู้เสริมเรื่องรำโทน หลายๆท้องถิ่น เพื่อให้เห็นภาพรวมอย่างชัดเจนพร้อมกับให้เกียรติเป็นที่ปรึกษาคนแรกให้กับรายการไทยโชว์อีกด้วย
ในเรื่องของท่ารำโทนก็ได้รับความรู้โดยตรงจาก รศ.อมรา กล่ำเจริญ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ผู้ที่ลงมือทำวิจัยและคลุกคลีตีโมงกับพ่อเพลงแม่เพลงรำโทนวัยอาวุโส คณะบ้านวัดโบสถ์ สามโก้ จังหวัดอ่างทอง ที่รายการไทยโชว์เชิญมาโชว์ในครั้งนี้..รศ.อมรา ได้เล่าขั้นตอนการแสดงรำโทนอย่างเป็นลำดับ ตั้งแต่เคารพธงชาติ ไหว้ครู “เพลงชุดรบ รัก จาก ลา”ที่เห็นว่าสนุกและน่ารักมากก็น่าจะเป็นเพลงรำโทน เพลงทหารไทยใจกล้าที่สุด ที่เนื้อร้องบรรยายถึงเหตุการณ์ในสนามรบ ทหารบาดเจ็บแล้วไปพบรักกับนางพยาบาล คือจริงๆน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัว
แต่กลับนำเอาความสุนกสนานซอดแทรกเข้าไป ซึ่งเพลงรำโทนทุกเพลงจะมีอารมณ์รักสองแบบที่แฝงไว้เสมอคือ
ความรักของคนหนุ่มสาว และความรักชาติ
วิทยากรคนสำคัญที่จะเรียกเรตติ้งให้รายการไทยโชว์พุ่งสูงเพียงชั่วข้ามสัปดาห์ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ ที่แม่ยกมังตรา ผู้ชนะสิบทิศ วิกโรงละครแห่งชาติ กรมศิลป์ เห็นทีไรเป็นต้องยิ้มแก้มปริในความหล่อสุภาพที่ไม่เคยสร่างของท่าน ดร.ศุภชัย ได้กรุณาสาธิตท่ารำ รำวงมาตรฐานทั้ง 10 เพลงอย่างครบถ้วนกระบวนเพลง

ทั้งหมดที่ผมเล่าให้ฟังเป็นแค่การเรียกน้ำย่อยเท่านั้น ถ้าจะให้ครบถ้วนจริงๆต้องติดตามรายการไทยโชว์ศุกร์นี้ แล้วจะเข้าใจแจ่มแจ้งแดงแจ๋ เลยว่า “รำโทน รำวง สงคราม ความรัก” เกี่ยวข้องกันอย่างไรครับ
คมสันต์กล่าวสรุปพร้อมเชิญชวนให้ติดตามรายการไทยโชว์

ติดตามชมรายการ “ไทยโชว์” เพราะ..เราไม่อยากให้หายไป ตอน “รำโทน รำวง สงคราม ความรัก” ในวันศุกร์ที่ 3 เมษายนนี้ เวลา 20.20 น. ทาง ทีวีไทย (ไทยพีบีเอส)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาลัยไทยโชว์ บัวจริยา

แหล่ธรรมมะ พระพร ภิรมย์ โดย คมสันต์ สุทนต์