รายการไทยโชว์ ตอนขยับกรับ ลับโลกา




























































รายการไทยโชว์

ตอน “ขยับกรับ ลับโลกา”

บทโทรทัศน์และบันทึกถอดความโดย คมสันต์(วรรณวัฒน์) สุทนต์
http://www.khomsun.com/

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2552


ดนตรีประจำรายการไทยโชว์

โลกจะสดับ เมื่อเราขยับ
โลกจะสดับ เมื่อเราบรรเลง
เรามีดีที่อยากให้เห็น
เราแสดงทุกอย่างให้ชมจะบรรเลงให้ก้องไปไกล
จะโชว์เพลงไทยให้เขานิยม
นี่คือตัวเรา นี่คือชีวิต
นี่คือภาษา นี่คือสมบัติ ที่ทรงคุณค่า
ไม่เคยหยุดยั้ง ไม่เคยยอมแพ้
กับกาลเวลา เพื่อยังคงอยู่ ในวันข้างหน้า
“เพราะเราไม่อยากให้หายไป” ThaiShow

Break 1
Super ขึ้นเต็มจอ
ไทยโชว์ตอน “ขยับกรับ ลับโลกา”
ร่วมไว้อาลัยครู แจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2538




ครูแจ้งขับเสภา เปิดรายการไทยโชว์ ตอนแรก “ขยับกรับขับเสภา”

อะหังวันทา สามิภักดิ์
ด้วยรักกาพย์กลอน อักษรสยาม.....

ผู้ดำเนินรายการ คมสันต์ : (ด้นสด)
ในเช้าวันที่ 16 มิถุนายน ปีพุทธศักราช 2552 ชาวไทย หรือคนไทยทั้งประเทศได้สูญเสีย บรมครู
ครูขับเสภาคนสำคัญครับ
ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ
และวันนี้ครับ(วันพุธที่ 17 มิถุนายน 2552)
รายการไทยโชว์ได้เดินทางมาที่ วัดป่าเลไลย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
เพื่อมาร่วมไว้อาลัยให้แด่ครูแจ้ง คล้ายสีทอง
รายการไทยโชว์ได้รวบรวมภาพที่ยังไม่เคยนำออกอากาศ
ไม่ว่าจะเป็นแม่ไม้ลายครู หรืว่าเบื้องหลังที่ครูให้กลเม็ดเด็ดพราย
ในเรื่องของการขยับกรับ ขับเสภาไว้อย่างสมบูรณ์แบบอย่างครบถ้วน
เป็นรายการสุดท้ายของแผ่นดินไทยก็ว่าได้
รายการไทยโชว์ ภูมิใจนำเสนอตอนพิเศษ “ขยับกรับ ลับโลกา”

(ตัดภาพมาที่ครูแจ้งขับเสภา ต่อตอนท้าย)
ลือความเป็นไทย เพื่อไทยโชว์.....

ประพันธ์โดย อาจารย์ธนกฤต อกนิษฐ์ธาดา (พี่สมปอง พรหมเปี่ยม)
ศิลปินรางวัลชนะเลิศพระราชทานแห่งชาติ
ประธานกองทุนคีตวรรณกรรม
ไทยโชว์ ตอน “ขยับกรับ ขับเสภา” ออกอากาศวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552








ไหว้ครูเสภา แบบโบราณ
โดย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ
สิบนิ้วจะประนมเหนือเกศา ไหว้พระพุทธ พระธรรมล้ำโลกา พระสงฆ์ทรงศีลาว่าโดยจง คงคายมนามาเป็นเกณฑ์ พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง ดินน้ำลมไฟอันมั่นคง จึงดำรงได้รอดมาเป็นกาย จะไหว้คุณบิดาและมารดร ครูพักอักษรสิ้นทั้งหลายอนึ่งจักบังคมองค์นารายณ์ อันสถิตแถบสายสมุทรา อนึ่งจักบังคมบรมพงศ์ ทรงหงส์ หาญระเห็จพระเวหา ไหว้องค์พระอิศวรเจ้าโลกา พระนารายณ์รามาธิปบดีไหว้พระฤาษีสิทธิ์และคนธรรพ์ พระวิษณุกรรม์เรืองศรีสรรพสรรเครื่องเล่นในธรณี จึงได้มีปรากฏแต่ก่อนมา ทีนี้จะไหว้ตาครูสน เป็นนายประตูครูคนทุกแหล่งหล้าไหว้ครูมีช่างประทัดถัดลงมา ครูเพ็งเก่งว่าข้างสุพรรณ
ครูขับสาธิตไว้เท่านี้

(เพิ่มเติมไว้ให้อ่านศึกษากันสูญหายนะครับ)
จะไหว้ตาครูเร่ ชอบเฮฮา พรรณรักษาราตรีดีขยันตาทองอยู่ครูละครกลอนสำคัญ ตาหวังสุวรรณรองศรีที่บรรลัยทีนี้จะไหว้ครูปี่พาทย์ ฆ้องระนาดฤาดีปี่ไฉนทั้งครูแก้วครูพักเป็นหลักชัย ครูทองอินนั่นแหละใครไม่เทียมทันมือก็ตอดหนอดหนับขยักขย่อน ตาพูนมอญมิใช่ชั่วตัวขยันครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือรับตาแก่ปลอดยอดเสภา ทั้งครูน้อยเจรจาคนนับถืออีกครูแจ้งแต่งอักษรขจรลือ ครูอ่อนว่าพิมพ์ระบือลือขจรครั้นจะร่ำไปนักจะชักช้า ทีนี้จะว่าเสภาตามครูสอนข้าพเจ้าพลั้งพลาดขาดบทกลอน ขออภัยเถิดอย่าค่อนนินทาเอย

ผู้ดำเนินรายการ คมสันต์ : (ด้นสด)
ถ้าพูดถึงเมืองสุพรรณฯ หลายคนก็จะนึกถึง ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ
สำหรับวันนี้นะครับ ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ไม่ได้อยู่กับพวกเราแล้ว
แต่ยังมีศิลปินพื้นบ้าน และศิลปินแห่งชาติอีกหลายๆท่านที่ยังอยู่กับพวกเรา
และมาร่วมไว้อาลัยในวันนี้ด้วย

สัมภาษณ์แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) พ.ศ. 2539
แม่ขวัญจิต : ลูกๆในวิทยาลัยนาฏศิลปะ สุพรรณฯ เนี๊ยะ ก็สนิทสนมเหมือนเราเป็นพ่อเป็นแม่
ลูกไม่รู้จะทำยังไง ..พอรู้ข่าวก็วิ่งเข้ามากอด ..ว่าพ่อไปแล้ว ..(แม่ก็ได้แต่ปลอบใจ) พ่อไปสบายนะ
ไม่มีอะไรจะพูดนะตอนนั้น ก็ต้องพูดประมาณนี้ ความผูกพันธ์มันก็เหมือนเสียคนในครอบครัว
ชีวิตในการทำงานเราคล้ายกัน เพราะเรามีลูกที่ไม่เข้มแข็งเหมือนกัน แล้วเราก็ต้องเข้มแข็งกันเอง เหนื่อยไม่ได้ ป่วยไม่ได้ พักไม่ได้ เคยคุยกันบางทีก็ร้องไห้ แต่พี่เขาไม่ร้องหรอก
คมสันต์ : ภาพที่หลับตาครั้งใดก็ต้องนึกถึงครูแจ้ง
แม่ขวัญจิต : เจอกันทีไรก็ (ทำท่ากำมะเหงก เขกหัว) ไอ้ขวัญ ๆ ภาพนี้มันจะติดตาตลอด ไม่ว่าจะเจอใกล้ เจอไกลก็เงื้อไว้ อย่างงี้ทุกครั้งไป (แม่ขวัญจิตน้ำตาคลอ )

สัมภาษณ์พ่อก้าน แก้วสุพรรณ
นักร้องลูกทุ่งระดับตำนาน
(ก่อนสัมภาษณ์มีเวลานิดหน่อยเลยให้พ่อสอนร้องเพลงนี้..แม่น้ำตาลก้นแก้ว...เขาชิมเจ้าแล้วจึงหยดถึงมือพี่)
พ่อก้าน : พ่อแจ้งเนี๊ยะเป็นคนอารมณ์ดี เวลาเจอกันเนี๊ยะ ท่านจะถามก่อน “สบายดีไหมดีรึ” เราก็บอก สบายดีครับ สบายดีอย่างงั้นไปหาข้าวทานกันนะ ตลอดเวลาท่านเหมือน พ่อที่รักลูกยังไงยังงั้น ความประทับใจที่มีให้แก่เราทุกๆคนเนี๊ยะ ทุกท่านที่ได้สัมผัสจริงๆแล้วจะรู้ว่า ครูแจ้งหรือพ่อแจ้งเนี๊ยะ เป็นปูชนียบุคคล ที่มีค่า เพราะฉะนั้นการจากไปของท่านในครั้งนี้ จึงทำให้คนที่เคยร่วมงานกับท่านมา ในฐานะเป็นคนสุพรรรณบุรีด้วยกันแล้ว..เสียใจ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของท่านด้วยความจริงใจนะครับ

คุณเด่นชัย สายสุพรรณ
นักร้องลูกทุ่งสายเลือดสุพรรณบุรี
คุณเด่นชัย : โดยส่วนตัวแล้ว เราสนิทกันมาก หลังจากท่านปลดเกษียณ ผมก็กลับบ้านเกือบทุกอาทิตย์ ก็จะมาคลุกคลีอยู่กับท่าน ก็จะมานั่งตกปลาศาลาริมแม่น้ำ เพราะบ้านเราอยู่ริมแม่น้ำ..ก็นั่งพูดคุยกันไป ครูก็จะนั้งนุ่งผ้าขวาม้าตัวเดียว อ่า..(หัวเราะเล็กน้อย) แล้วก็ ยกขึ้นมาเช็ด น้ำมูกน้ำลายอะไรบ้างนะ เราจะเรียกครูว่า พ่อ พ่อ พ่อ ถ้าครูตกปลาได้ก็จะเก็บเอาไว้ให้ พอเรามาถึงก็จะบอกว่า
มีปลานะ เอาไปทำอะไรกิน ต้มยำกิน เราก็จะเอาไปทำ..แล้วก็มานั่งพูดคุยกันถึงเรื่องเพลงเก่าๆ เรื่องเสภาเป็นยังไง ลำตัดเป็นยังไง บางทีก็ให้ครูร้องตัวอย่างให้ฟัง อ้อเพลงนี้เป็นอย่างงี้หรอ
ต่อไปนี้คงไม่มีแล้วล่ะ ภาพอย่างนี้ ที่ยังจำกันได้ แล้วเพื่อนผมที่เป็นศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นคุณทศพล หิมพานต์ คุณเอ๋ พจนา คุณพรชัย วรรณศรี อย่างเนี๊ยะก็ยังกันได้ เพราะเคยได้ไปนั่งพูดคุยกับพ่ออยู่เป็นประจำ

เบื้องหลังการถ่ายทำ สาธิตการขับเสภาลาว
โดย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ
ถ่ายทำเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 วัดไชยนาราษฎร์ จ.สุพรรณบุรี
ครูแจ้ง : เอ่อเอ้ย .......จะกล่าวถึงนางสร้อยฟ้า (หยุดคิด) เดี๋ยวก่อน เอ่อ นางสร้อยฟ้าซิ
ครานั้นจึงโฉมนางสร้อยฟ้า
ดังชีวาแทบจะออก ไปจากร่าง
แสนที่จะอับอาย แทบวายวาง
จะรักรูปทรงร่าง ไปใยมี
พี่สมปอง (เสริม) : ที่ขับจบไปแล้ว เรียกว่าเสภาแบบไหน
ครูแจ้ง : ลาว ..เสภาลาวจ๊ะ
พี่สมปอง (เสริม) : แล้วทีนี้ ยังมีลีลาไหนอีกครับ
ครูแจ้ง : มีจ๊ะ อีทีนี้ก็เป็นเสภามอญนะ เอาไปพอเป็นสังเขปนะ
เอ่อเอ้ย..บัดนั้น นครอินทร์ คิดทางพลางทูลว่า
ข้าขอ ขอบพระคุณกรุณา
แต่ข้าไม่ขออยู่ จะสู้ตาย
สัญชาติชาย เบือนบิดผิดสัญญา
.....(ครูแจ้งเงียบไปพัก) แล้วพูดว่า
เอาใหม่ได้มั๊ย ?

สัมภาษณ์ครูแดน บุรีรัมย์
ครูเพลงลูกทุ่ง
คมสันต์ (ถามนำแต่ไม่ได้นำมาออกอากาศ) : ช่วยอธิบายน้ำเสียงของครูแจ้ง ให้เห็นภาพหน่อยซิครับ
ครูแดน : เรื่องของคุณภาพเสียงตรงเนี๊ยะ ด้วยความเหมาะสม ที่ท่านเป็นศิลปินแห่งชาตินะครับ
ด้วยน้ำเสียงแบบนี้ การตั้งคีย์เสียง โดยเฉพาะระดับเสียงกับเครื่องดนตรี ครูเป็นคนที่เสียงสม่ำเสมอ
เป็นคนเสียงกว้าง โทน[Tone]เสียง คือต่ำก็ดี สูงก็ได้ ไม่ตายต่ำ ไม่เสียทั้งสูง อะไรอย่างนี้เป็นต้น
ฉะนั้นถ้าเสียงลักษณะอย่างนี้ ไม่ว่าจะร้องเพลงไทย หรือร้องเพลงลูกทุ่ง..ร้องเพลงอะไรก็ตามจะได้เปรียบ
1. น้ำเสียงหวาน
2. โทนเสียงกว้าง
ฉะนั้นครูแจ้งเสียงแบบนี้ แหลม เล็ก บาง และกว้าง ท่านเหมาะเหลือเกิน

เบื้องหลังการถ่ายทำ
สาธิตการขับเสภาอารมณ์ต่างๆ
โดย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ
ถ่ายทำเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 วัดไชยนาราษฎร์ จ.สุพรรณบุรี

ครูแจ้ง (อีกครั้ง): เอ่อเอ้ย..บัดนั้น นครอินทร์ คิดทางพลางทูลว่า
ข้าขอ ขอบพระคุณกรุณา
แต่ข้าไม่ขออยู่ จะสู้ตาย
สัญชาติชาย เบือนบิดผิดสัญญา
ไม่ถือสัตย์ ขัตติยา อย่าพึงหมาย
จะนบนอบ มอบจิต คิดละอาย
เจ้าอุบาย บิดผัน ผิดสัญญา

พี่สมปอง (เสริม) : ไทย ลาวแล้วก็มอญ ซึ่งเป็นเรื่องของลีลา(สำเนียงขับเสภาที่บอกเชื้อชาติอยู่ตัวละคร) ในเรื่องขุนช้าง ขุนแผน แล้วคราวนี้ เสภามีกี่อารมณ์ครับครู
ครูแจ้ง : ความจริงอารมณ์ของเสภาแล้วแต่บทกลอน เช่น ....
อย่างเช่น อารมณ์เศร้า อารมณ์โศกเนี๊ยะ จะขับยังไงเราก็ขับได้
อย่างเช่น เอ๊ย(ครูขึ้นเสียงสูงปรี๊ด)
นางกอดจูบ รูปหลัง แล้วสั่งสอน
อำนวยพร พลายน้อย ละห้อยไห้
อย่างนี้ก็ได้ ถ้าเราจะขับให้มันเกิดอารมณ์จริงๆ นะ
(ครูขับช้า แบบได้อารมณ์ซึ้งสุดๆ)
นางกอดจูบ รูปหลัง แล้วสั่งสอน
อำนวยพร พลายน้อย ละห้อยไห้

เนี๊ยะ มันไม่เหมือนกัน
อย่างเช่น (บทรัก)
ผมเปลือยเลื้อยปะ ลงจนบ่า
งอนปลาย เกศา ดูสมศรี
ที่นอนน้อย น่านอน อ่อนดี
มีหมอน ข้างคู่ ประคองเคียง

ถ้าเราขับธรรมดามันก็ไม่ได้อารมณ์
บทโศก บทรักเนี๊ยะมันจะใกล้เคียงกัน
คราวนี้มาถึงบทกึ่งๆ จะตลก

เอ๊ย...
มะงอกเง้า เป็นเงี่ยง บ้างเกลี้ยงกลม
บ้างโปมปม เป็นปุ่ม กะปุบกะปิบ
บ้างปอดแป๊ว เป็นภู ดูลิบลิบ
โลกตะลิบ แลตลอด ยอดศิขะรินทร์

เนี๊ยะ ถ้าครูหมื่นขับ (หมื่นขับคำหวาน) ท่านจะขับเดี๋ยวสูงต่ำ อะไรของท่าน คือเป็นบทชมนกชมไม้
(ต่อไป) บทโกรธ เนี๊ยะสำคัญ

เอ๊ย...
มึงไปคาบ นางมนุษย์ ฉุดเอามา
ยังมีหน้า อวดดี ขี้ปะติ๋ว
ดูไพร่เลว ก็ไม่เหลว ไม่ขี้ริ้ว
ไม่บิดพลิ้ว เหมือนตะเข้ เสเพลย์พาล

ปากมาก มากความ หยามกันเปล่า
กูไม่เอา เยี้ยงไอ้ เดรฉาน
โดดมา กล้าจริง อย่านิ่งนาน
ป่วยการ แก้หน้า ไอ้บ้ากาม
(เรื่องไกรทอง นี่แหละ ที่ครูสมชาย ทับพร ให้สัมภาษณ์พูดถึงครูแจ้งอย่างประทับใจ โปรดอ่านตรงบทสัมภาษณ์ช่วงนั้นนะครับ)

Break 2
ผู้ดำเนินรายการ คมสันต์ : (ด้นสด)
จากการที่เราได้คุยกับน้องเต๊ะ ซึ่งถือว่าเป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ ที่ได้ฝากฝัง(วิชา)ไว้ที่วิทยาลัยนาฏศิลป สุพรรณบุรี จะเห็นว่าเด็กคนหนึ่งที่ออกจะดื้อ ซน เกเร ร้องเพลงก็ เขาบอกว่าก่อนหน้านั้นร้องไม่ดีเลยล่ะครับ พอได้มาเจอครูแจ้ง เรียนกับครู..เห็นชัดเจนเลยครับว่าเสียง ลีลาและอารมณ์ของเขาเปลี่ยนแปลงไป นี่แหละครับเป็นสิ่งบ่งบอกชัดเจนเลยว่าครูแจ้ง ไม่ใช่เป็นแค่ศิลปิน แต่เป็นครู เป็นครูของเราทุกคนครับ


สัมภาษณ์น้องเต๊ะ-ทรงนิรันดร์ อ่อนเถื่อน
นักศึกษาวิทยาลัยนาฎศิลป สุพรรณบุรี
ศิษย์รุ่นสุดท้ายของครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ
น้องเต๊ะ-ทรงนิรันดร์ : เพลงทุกเพลงที่ฟังครูร้อง ฟังครูสอนมา เพราะทุกเพลงเลยละครับ ถ้าถามความประทับใจ ก็ชอบทุกเพลง บางที่ถ้าเราร้องเอง อย่างเพลงเขมรราชบุรี เราก็ร้องแบบธรรมดาของเรา แต่ฟังครูปุ๊ป...ครูเป็นคนที่ร้องเพลงน่าฟังมากเลยครับ
“ชะลอยกรรมจำพราก ต้องจากไกล”
(แทรกภาพ บรรยากาศในงาน และภาพแม่บุญนะ แขกคนสำคัญฯ)
ถ้าครูอยู่ตรงนี้ ก็อยากจะบอกครูว่า ..รักครูมากเลยครับ แล้วก็อยากจะขอบคุณครูทุกอย่างทำให้มีวันนี้ จากคนที่ไม่เป็นอะไรเลย วันนี้ได้ทุกสิ่งทุกอย่างก็เพราะครู เป็นผู้ให้













เทปบันทึกรายการไทยโชว์
ตอน “ขยับกรับ ขับเสภา”
ออกอากาศวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552
โดย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ

เสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างโจนลงกลางชานร้านดอกไม้ ของขุนช้างปลูกไว้อยู่ดาษดื่นรวยรสเกสรเมื่อค่อนคืน ชื่นชื่นลมชายสบายใจกระถางแถวแก้วเกดพิกุลแกม ยีสุ่นแซมมะสังดัดดูไสวสมอรัดดัดทรงสมละไม ตะขบข่อยคัดไว้จังหวะกันตะโกนาทิ้งกิ่งประกับยอด แทงทวยทอดอินพรมนมสวรรค์ บ้างผลิดอกออกช่อขึ้นชูชัน แสงพระจันทร์จับแจ่มกระจ่างตายีสุ่นกุหลาบมะลิซ้อน ซ่อนชู้ชูกลิ่นถวิลหาลำดวนกวนใจให้ไคลคลา สาวหยุดหยุดช้าแล้วยืนชม..........................................
บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย






เบื้องหลังการถ่ายทำ
สาธิตการขับเสภาอารมณ์ต่างๆ
โดย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ
ถ่ายทำเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 วัดไชยนาราษฎร์ จ.สุพรรณบุรี

(ยังไม่หายโกรธ..ต่อเนื่องนิดหนึ่งจากตอนที่แล้ว)
พอถึงบทโกรธ ไม่มีความไพเราะหรอก มันจะฆ่ากัน....
ไม้กรับ ไม้รบเนี๊ยะมันมาจากกลองสองหน้า
มันจะตีไม่เหมือนกัน ฟังครูเหนี่ยว(เหนี่ยว ดุริยะพันธ์) แล้วก็ท่านอาจารย์มนตรี(มนตรี ตราโมท)
ท่านบรรยาย มันล้อกับดนตรี เช่นดนตรี “เด๊ว เดว เด่ว เด๊ว เด่เด๊ว....ปะพรืดป๊ะ...ป๊ะปะพรึดป๊ะ” มันก็ไม่เหมือนกัน
ทีนี่ฉันฟังครูเหนี่ยวตีไม้รบ ตีไว้ครั้งเดียว ตีอีกครั้งก็ไม่เหมือนเก่าหล่ะ
“จับ บั่น หั่น ย่อย เป็นร้อยทบ
ควันตลบม่านมุ้งไหม้เป็นส่ำ
เห็นขุนช้าง กางกอด อยู่กำยำ
ทมึนดำ ดาลเดือด เสียดายนาง”
คือมันจะไปกับคำ ไอ้ไม้กึกกักๆๆ มันจะไปกับคำที่เราขับ
นั่นแหละมันมาจาก(กลอง)สองหน้า ทั้งนั้นแหละ สองหน้าเที่ยวแรกตีอย่างงี้ พอเที่ยวสองตีอีกอย่าง ไม้รบก็เหมือนกัน ฟังครูเหนี่ยวก็ตีครั้งเดียวเอง พอไปฟังครูหมื่นขับก็ตีไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นต่างคนต่างถนัด

สัมภาษณ์อาจารย์ธนกฤต อกนิษฐ์ธาดา (พี่สมปอง พรหมเปี่ยม)
ศิลปินรางวัลชนะเลิศพระราชทานแห่งชาติ
ประธานกองทุนคีตวรรณกรรม

อาจารย์ธนกฤต : เวลาที่พี่ได้อยู่กับครูเนี๊ยะ เหมือนพี่ได้ดื่ม สรรพรสตรงนั้น มาจากจิตวิญญาณอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เสียงครูนะ แต่ฟังที่ครูเนี๊ยะถ่ายทอดเป็นจิตวิญญาณ ผ่านๆมานับแต่อดีต หลายร้อยปี จนถึงในยุคปัจจุบัน แล้วเรารับ เราซึมซาบกับตรงนั้นมา
...สิ่งสำคัญที่เราต้องทำครั้งแรก(ในรายการไทยโชว์)ก็คือ เรื่องเสภา แต่พี่ไม่คิดหรอกว่า มันจะเป็นครั้งสุดท้าย ที่ครูจะได้ฝากเสียงเสภานี้ไว้ ในแผ่นดินไทย
คือมีความตั้งใจว่า เสภาเป็นปฐมบทแห่งมหรสพทั้งหลาย ที่บอกว่า “เมื่อครั้งพระจอมนรินทร์
แผ่นดินลับ เสภาขับยังหามี ปี่พาทย์ไม่” แสดงว่าก่อนที่จะมีปี่พาทย์ดนตรีนี่ เสภามีมาก่อน เพราะฉะนั้นเสภาจึงเป็นต้นแบบของมหรสพและการบันเทิงทั้งหลาย ในสยามประเทศหรือประเทศไทย และหนึ่งเดียวที่คิดว่าจะนำเสนอได้คือ ครูแจ้ง คล้ายสีทอง เพราะท่านเป็นคนที่เคี่ยว
กรำชีวิตในเรื่องเสภามาโดยตลอด และพี่มองว่า เสภาของครูแจ้ง ไม่ใช่เสภาที่หยุดนิ่งอยู่กับที่
แต่มีพัฒนาการที่นำสมัย ทั้งร่วมสมัยอยู่ในตัว โดยนำเอาขุนช้างขุนแผน หรือบทกวีที่แต่งใหม่ๆเนี๊ยะ มาปรากฏให้มีชีวิตชีวามีเสียง ครูก็จะรู้ว่าคนฟังต้องการอะไร แล้วครูก็จะรู้อีกว่า สิ่งที่นำเสนอเนี๊ยะคืออะไร

ภาพเทปโทรทัศน์จาก รายการดนตรี กวี ศิลป์
ตอน ประโคมเพลง บรรเลงถวาย
บันทึกรายการวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551
(ความยาวประมาณ 7 นาที)




Break 3
ผู้ดำเนินรายการ คมสันต์ : (ด้นสด)
ตลอดระยะเวลากว่าค่อนชีวิตของครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ เรียกว่าทุกวินาที ทุกเวลาที่ครู อยู่ที่กรุงเทพฯ ครูจะมีความสุขกับการอยู่ที่กองการสังคีต กรมศิลปากร ครูมีพี่ มีน้องที่ให้ทั้งความสุข สนุกสนาน และก็ร่วมงานกัน และในวันนี้นะครับ
ครูหลายๆคนไม่ว่าจะเป็นครูปี๊ป คงลายทอง, ครูสมชาย ทับพร ได้ร่วมให้เกียรติเดินทางมาไว้อาลัย
ครูแจ้ง คล้ายสีทองครับ

สัมภาษณ์ครูปี๊บ คงลายทอง
ดุริยางคศิลปิน 8 สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
ครูปี๊ป : ส่วนตัวผมเอง ได้ร่วมงานกับครูในหลายๆครั้ง ที่ประทับใจที่สุดคือ ได้เป่าปี่พระอภัย พระอภัยปี่แก้ว เป็นเพลงที่รู้สึกว่า เราเป็นศิลปินผู้น้อย แล้วก็เป็นศิลปินผู้น้อยประสบการณ์ แต่ท่านก็เมตตาให้ร่วมบรรเลงกับท่าน ซึ่งจะเก็บความทรงจำนั้นไว้อีกนานเท่านาน



สัมภาษณ์ครูสมชาย ทับพร
คีตศิลปิน 8 กลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
ครูสมชาย : เข้ามา(ทำงาน กองการสังคีต) แรกๆผมก็มีเฉพาะเสียงมานี่แหละ ..ครูแจ้งเป็นคนคอยแนะนำ พร้อมกับส่งเสริมผม พร้อมกับท่านอาจารย์เสรี(เสรี หวังในธรรม) จนเป็นนักร้องในวันนี้
..ในการแสดงแต่ละเรื่องของกรมศิลปากรนั้น ส่วนใหญ่ครูแจ้งจะร้องเป็นพระเอก เพราะเสียงหวาน
ไพเราะ ผมนี้เป็นคนกระโชกโฮกฮาก ผมก็จะได้รับบทเป็นตัวโกง เช่นในเรื่องไกรทอง ครูแจ้งเนี๊ยะ
จะขับตัวไกรทองดีมาก โอ้โห ไกรทองนี่ต้องครูแจ้งขับเสภา ผมก็ได้น้ำ..ไอปากจากครูแจ้งนี่แหละ
สอนผม ก็เลียนแบบของครูแจ้งนั่นแหละ ......




เทปบันทึกรายการไทยโชว์ ตอน “ขยับกรับ ขับเสภา”
ออกอากาศวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 โดย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ

เพลงแขกมอญบางช้าง สองชั้น
ครูแจ้งร้อง
“........พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยาก พี่ยังคาย
แขนซ้ายคอดแล้ว (พราะ)น้องหนุนนอน”

ผู้ดำเนินรายการ คมสันต์ : (ด้นสด)
เขาบอกว่า ตัวอักษร มีเสียงไพเราะเพราะพริ้ง จะต้องให้ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติขับเสภา หรือร้องออกมาเป็นสำเนียงเพลงไทย มีหลายท่านครับ ที่เป็นนักเขียนชื่อดังที่ให้เกียรติมาร่วมงานของครูแจ้งในวันนี้ครับ

สัมภาษณ์อาจารย์ประยอม ซองทอง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2548
อาจารย์ประยอม : การเขียนกลอนเราต้องใช้ความสามารถระดับหนึ่ง แต่เมื่อเราทำออกมาเป็นคำประพันธ์แล้ว นักร้องหรือนักขับอย่างครูแจ้งก็จะนำมาแปลความหมายของเราออกไป ก่อนจะแปล
ครูก็จะมาดูว่าบรรยากาศมันเป็นอย่างไร อย่างเราเล่นสักวา เราเป็นตัวอะไร บทตรงนั้นดุหรืออ่อนหวาน คราวนี้นักร้องอย่างครูแจ้งนี่ก็จะรู้ว่า จะใส่เพลงอะไรประเภทไหน

สัมภาษณ์อาจารย์อำพล สุวรรณธาดา
ประธานมูลนิธิยูเรไก (ประเทศไทย)
คมสันต์ : ก็พูดกันอย่างเต็มปากได้เลยว่า(อาจารย์อำพล) เป็นเพื่อน(ครูแจ้ง)กันมากว่า 50 ปี
อาจารย์อำพล : ฮึๆ (หัวเราะเบาๆ) อ๋อความเป็นเพื่อนกันมาไม่ใช่คลุกคลีนะ พบกันเมื่อไหร่ เป็นนั่งคุยกันได้เมื่อนั้น โดยเฉพาะ มะขามป้อม มะยม หรือมะขามเปี๊ยกอย่างนี้ ชอบมาก ไม่ต้องมีอย่างอื่นเป็นองค์ประกอบเลย อะไรพวกนี้ทำให้เราคุยกันได้ เพราะพวกนี้จะทำให้เลือดลมดี เสียงดี โล่งคอ
........................................
หลังปิดไมค์แล้ว
คมสันต์ : โห อาจารย์ดีจัง พูดเซ็นเซอร์ให้ผมสรรพเสร็จ นึกว่าถ้ามีอย่างนั้น.. ออกอากาศไม่ได้แน่

สัมภาษณ์คุณชมัยภร แสงกระจ่าง
นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
คุณชมัยภร : เสียงของครู ถ้าพูดเป็นสำนวน มันเหมือนกับว่า
มันหยดย้อยน่ะ คำแต่ละคำ เหมือนครูเนี๊ยะ มีดาวอยู่ในปากนะ
ครูก็เอาดาว หยดมาทีละดวง ทีละดวง ทีละดวง
แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า โอ้โห ทำไมมันไพเราะขนาดนี้
มันส่องแสง ด้วย
แล้วมันเป็นประกาย
แล้วมันเยือกเย็น
งดงาม งามจริงๆ ค่ะ


เบื้องหลังการถ่ายทำ
สาธิตการขับเสภาอารมณ์ต่างๆ
โดย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ
ถ่ายทำเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 วัดไชยนาราษฎร์ จ.สุพรรณบุรี

พี่สมปอง : วิธีการขับ พร้อมกับการขยับกรับไปด้วย มันลำบากไหมครู
ครูแจ้ง : เออ มันก็ลำบากพอสมควร ปากมันต้องขับ บางคนเนี๊ยะปากมันขับได้ พอตีกรับเข้าก็ขับไม่ได้ บางคนตีกรับได้ แต่ขับไม่ได้ มันไม่เข้ากัน
เพราะฉะนั้น มันต้องฝึก
ก่อนที่จะขับเสภาเนี๊ยะ จะต้องตีไม้กรอให้ก่อน (ครูค่อยๆ สาธิต) เอ่อ เอ๊ย..ตีให้หมด
ครานั้นขุนแผน ........เนี๊ยะ มันมีไม้สกัด ไม้กระทบ
แสนสนิท...สกัด แล้วขยับ สกัดสั้น ยาว เขาก็ตีกันอยู่
ไม้กรอ เรืองฤทธิ์..สกัดสั้น
ลือดี..นี่ไม้กระทบ
ไม่มีสอง..สกัดยาว
ข้าศึกนึกกลัว ขนหัวพอง..ก่อนจะลงต้องตีไม้กรับ
คล่องแคล้ว แกล้วกล้า วิชาดี..แล้วถึงจะสกัด
ถ้ามันจบสำนวนสุดท้าย
ดำเนินแต่ลาวทอง ต้องจากอก
ให้วิตกขุ่นข้องหมองศรี
ข้าใช้ไทยลาว สาวสาวมี
ไม่ยินดีด้วยใคร อาลัยนาง
ก็จะตีไม่กรอบทสุดท้าย หมดวิธีในการใช้กรับละนะ แต่ว่าก่อนจะขับเสถาทุกครั้ง ต้องตีไม้กรับ ไม้กรอ
พี่สมปอง : หัวใจของเสภาจริงๆ อยู่ที่ไม้ขับ หรืว่าอารมณ์
ครูแจ้ง : อยู่ที่อารมณ์ซิ ใครเขาก็ขับได้ มันอยู่ที่อารมณ์ตรงไหนที่เราจะขับ
...คล้ายๆว่าพอชำนาญอ่านไปปึ๊บ ก็รู้ได้เลยว่าบทตรงนี้ มันจะต้องขับยังไง
...ความจริงก็เสภามันเริ่มเล่นกับวงดนตรี ในสมัยรัชกาลที่สอง แต่ก่อนไม่มีดนตรี มันค่อยวิวัฒนาการ เริ่มจากเล่านิทานแบบร้อยแก้วก่อน สมัยกรุงศรีอยุธยา ปลายกรุงศรีก็จะมีกรับ
เป็นเสภา ใครหัวดีก็แต่งกลอน รับจ้างขับแล้วก็มีไม้กรับอยู่ 4 อัน ตีก๊อกแก็กๆ
มาถึงรัชกาลที่สองด่านมาพัฒนาเป็น ไม้หนึ่ง ไม้สอง สกัดสั้น ยาว เยอะกว่านี้
...เสียงไม้กรับ มันจะเข้า หรือใกล้เคียงเสียงระนาด ที่เขาเรียกกันว่าลูกหมด คือเพลงลูกหมด
เล่นเพลงใหญ่ๆไปหมดแล้ว สุดท้ายก็เพลง หน่อย นอย หน่อย หนอย....(ครูร้องเลียนเสียงดนตรีออกลูกหมด) เขาเรียกลูกหมด นอย นอย มันจะใกล้เคียงกับลูกหมด(เสียงสุดท้ายของลูกหมดจะใกล้เคียงเสียงกรับ

สัมภาษณ์อาจารย์(พี่)ถาวร สดแสงจันทร์
อาจารย์ประจำวิทยาลัยนาฏศิลป สุพรรณบุรี
อาจารย์ถาวร : ประทับใจพ่อแจ้ง ตั้งแต่สมัยเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป อ่างทอง ตอนเด็กๆชอบตรงที่เขมรโพธิสัตย์ เป็นตอนที่ หนุมานได้หักหลังทศกรรณฐ์ “โอ้ว่าหนุมาน..”ผมจะชอบตรงนี้มาก ผมก็หาว่าใครเป็นคนร้อง


สัมภาษณ์อาจารย์(พี่)อำนาจ กองกลิ่นหอม
อาจารย์ประจำวิทยาลัยนาฏศิลป สุพรรณบุรี
อาจารย์อำนาจ : พ่อเป็นคนสนุกสนาน จะชอบเล่านิทานให้พวกลูกศิษย์ฟัง เช้ามาถ้าพ่อไปสอน จะนั่งคุยกันก่อน แล้วก็จะเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ เป็นเรื่องประสบการณ์ของพ่ออย่างหนึ่ง แล้วก็เรื่องแวดวงดนตรีไทย พ่อไปเล่นอะไร สนุกสนานอย่างไร พ่อจะมาเล่าให้เราฟัง

สัมภาษณ์อาจารย์วาสนา บุญญาพิทักษ์
ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป สุพรรณบุรี
อาจารย์วาสนา : วิทยาลัยนาฏศิลปะ สุพรรณบุรี และครอบครัวครูแจ้ง ขอเรียนเชิญศิษยานุศิษย์ทั้งหลายที่ได้รับวิชาจากครู มีจิตที่รักดนตรี สืบสานการขับร้องของไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน
มาร่วมกันบูชาครู มาร่วมกันไว้อาลัยครู

ร่วมไว้อาลัย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ
วันที่ 17-23 มิถุนายน 2552 ณ วัดป่าเลไลย์ จ.สุพรรณบุรี

เบื้องหลังการถ่ายทำ
สาธิตการขับเสภาอารมณ์ต่างๆ
โดย ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ
ถ่ายทำเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 วัดไชยนาราษฎร์ จ.สุพรรณบุรี
ครูแจ้ง : วิธีการเหลาไม้กรับที่ดี คนเหลาน่าจะต้องเป็นนักดนตรี จริงๆแล้วครูผู้ใหญ่เขาทำเขาจะปล่อยให้กรับใหญ่ ยาวก่อน แล้วเขก็จะตัดทีละส่วน ขยับไปเรื่อย เสียงมันก็จะใกล้เคียงขึ้นมา เข้าใจไหม ...กรับครูหมื่นขับ(หมื่นขับคำหวาน) ที่ฉันจับดูน่ะ ยาวกว่านี้ แต่เล็กกว่านี้นิด อันนี้ใหญ่(ที่อยู่ในมือครูแจ้ง) สั้นกว่าหน่อย แต่เสียงมันได้กัน

คมสันต์ : ครูลองขยับกรับ ตามลำดับโดยไม่ต้องร้องหน่อยนะครับ
ครูแจ้ง : อ่าๆ
อย่างนี้ไม้กรอ
ไม้กระทบ
แต่ครูหมื่นขับท่านมี สกัดสั้น สกัดยาว
ครูหมื่นขับมีครบ มันทำให้เกิดอารมณ์ที่ดีทั้งนั้นแหละ เราขับแบบอ่านทำนองเสนาะมันก็ไม่มีอารมณ์น่ะ พอมันเป็นเสภามันก็จะมีสูงต่ำ มีดนตรีคอยเล่นสลับทำให้เกิดอารมณ์..สนุกสนานขึ้น

สัมภาษณ์แม่บุญนะ คล้ายสีทอง
ภรรยาครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ
แม่บุญนะ : ขอขอบคุณที่เป็นห่วงครู คอยติดตามผลคืบหน้าการป่วยของครู ...คือ ณ ตอนนี้พ่อก็ไปสบายแล้วค่ะ คือพ่อต่อสู้ อดทนมาตั้งสี่เดือนแล้วค่ะ ที่พ่อเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบเฉียบพลัน
แม่ก็อยู่ใกล้ชิดพ่อมาตลอด แม่ก็ให้กำลังใจพ่อมาตลอด ก็วันนี้ถึงวาระสุดท้าย พ่อก็ไปสบายแล้วคะ
พ่อเคยบอกแม่ไว้ว่า ให้แม่ฝากผลงาน คือพ่อทำผลงานเอาไว้ เพื่อที่จะสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยของเราเอาไว้ ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เกี่ยวกับการขับร้อง เกี่ยวกับการอ่านทำนองเสนาะ ..ขับเสภาก็ดี พ่อฝากผลงานนี้ไว้ให้แม่ค่ะ

ผู้ดำเนินรายการพูดปิดท้ายรายการ
คมสันต์ : (ด้นสด ตั้งแต่ต้นจนจบ)
ทุกครั้งในรายการไทยโชว์จะบอกคุณผู้ชมว่า เพราะ เราไม่อยากให้หายไป แต่วันนี้นะครับ มีบุคคลสำคัญ ก็คือครูแจ้ง คล้ายสีทอง ได้หาย จากไปแล้วนะครับ แต่ความรู้สึกดีๆ หรือความทรงจำ และวิชาความรู้เรื่องของการขับร้อง หรือการขยับกรับขับเสภา จะอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป
เพราะ..เราไม่อยากให้หายไป
รายการไทยโชว์ ร่วมไว้อาลัย
ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ

End Credit
อัยย วีรานุกูล โปรดิวเซอร์ : เดี๋ยวจะขึ้นเวทีไทยโชว์แล้ว ครูเตรียมตัวยังไงบ้างคะ
ครูแจ้ง : อ่า ความจริงเราก็ต้องทำเนื้อทำตัวให้มัน คล่อง เสียง สอน มันก็ต้องกระแอ่ม แอมไอ
อย่างน้อยมันก็ต้องฮัมไว้บ้าง “อือ อื้ออือ......” พวกนี้ คือให้คอเราเนี๊ยะรู้ ว่าจะต้องใช้งานเขาแล้ว
เราต้องฮัมตลอด แล้วเราถึงจะขึ้น(เวที) จะได้เรียกเสียง เรียกน้ำย่อย อ่ะๆๆ นักร้องมันก็ลำบากเหมือนกัน
อัยย วีรานุกูล โปรดิวเซอร์ : แล้วครูเป็นคนแรกของไทยโชว์ รู้สึกยังไงคะ
ครูแจ้ง : อ้อ จ๊ะ ขอบใจมาก ที่ให้เกียรติ
ความจริงทีวีเนี๊ยะ ออกมาเยอะแยะหมด แฮะๆๆ นะ
อัยย วีรานุกูล โปรดิวเซอร์ : ไม่ตื่นเต้น
ครูแจ้ง : รู้สึกเฉยๆ
อัยย วีรานุกูล โปรดิวเซอร์ : พร้อม
ครูแจ้ง : พร้อม
อัยย วีรานุกูล โปรดิวเซอร์ : พร้อม (ย้ำเป็นครั้งสุดท้าย เวทีสุดท้าย)
ครูแจ้ง : พร้อม (ครูยิ้มและหัวเราะร่าอย่างสุขใจ)

LOGO ไทยทีวีขึ้นหน้าจอ

จบรายการ
http://www.thaipbs.or.th/Thaishow/
ไทยโชว์รายการที่มุ่งเชิดชูศิลปะดนตรี และการแสดงของไทยให้ทรงคุณค่า สง่างาม สมกับเป็นสมบัติของชนชาติไทย ด้วยการเป็นเวทีที่ให้ยอดฝีมือ ในเชิงดนตรีไทย และศิลปะการแสดงทุกแบบทั่วประเทศ มาแสดงในลีลาร่วมสมัยดูสนุก พร้อมสอดแทรกสาระ ที่จะทำให้ผู้ชมทุกรุ่นทุกวัยดูศิลปะของไทยได้อย่างเข้าใจ อิ่มเอม และตระหนักถึงรากของความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี ด้วยรูปแบบที่เป็นวาไรตี้มีช่วงต่างๆ ของรายการ อย่าง เบิกม่าน, กว่าจะมาโชว์, สาระบรรเลง, ร้องรำทำโชว์, แม่ไม้ลายครู, เชิญมาโชว์ และ ปิดม่านเวลาออกอากาศ : ทุกวันศุกร์ เวลา 20.20 – 21.10 น.ติดต่อรายการ : thaishow@thaipbs.or.th
เพลงประกอบรายการ :
THAISHOW Theme song (เพลงประจำรายการ) เนื้อร้อง ทำนอง เรียบเรียง : เจษฎา สุขทรามร
โลกจะสดับ เมื่อเราขยับ โลกจะสดับ เมื่อเราบรรเลง
เรามีดีที่อยากให้เห็น เราแสดงทุกอย่างให้ชมจะบรรเลงให้ก้องไปไกล จะโชว์เพลงไทยให้เขานิยม
นี่คือตัวเรา นี่คือชีวิต นี่คือภาษา นี่คือสมบัติที่ทรงคุณค่า
ไม่เคยหยุดยั้ง ไม่เคยยอมแพ้ กับกาลเวลา เพื่อยังคงอยู่ในวันข้างหน้า“เพราะเราไม่อยากให้หายไป” ThaiShow
http://www.thaipbs.or.th/Thaishow/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาลัยไทยโชว์ บัวจริยา

แหล่ธรรมมะ พระพร ภิรมย์ โดย คมสันต์ สุทนต์