เพลงรำโทนบ้านหน้าวัดโบสถ์ อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง

ชื่อผู้วิจัย คมสันต์วรรณวัฒน์ สุทนต์
ปี 2541ผลงานวิจัย ภาคกลาง

จุดมุ่งหมายในการวิจัยเพลงรำโทนบ้านหน้าวัดโบสถ์ อำเภอสามโก้ ครั้งนี้เพื่อรวบรวมข้อมูล ในรูปแบบโน้ตสากล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจด้านดนตรีพื้นบ้านทั้งระดับประเทศและสากล โดยรวบรวมข้อมูลจากวิทยากรพ่อเพลงแม่เพลงท้องถิ่นจำนวน 7 ท่าน รวบรวมเพลงรำโทนได้ทั้งหมด 102 เพลง จำแนกประเภทของเพลงเป็นช่วงเคารพนบนอบ 3 เพลง ช่วงชักชวนร่ายรำร้องเพลง 10 เพลง ช่วงเข้าเนื้อหา แบ่งย่อยเป็นเกี่ยวกับความรัก 76 เพลง เกี่ยวกับรบ 5 เพลง เกี่ยวกับวรรณคดี 6 เพลง และช่วงร่ำลาอาวรณ์ 2 เพลง แต่พ่อเพลงแม่เพลงจะแบ่งเป็นสามลักษณะ คือ รัก รบ และจากลา คณะรำโทนบ้านหน้าวัดโบสถ์ ได้นำกลองรำมะนาแบบรำตัด มาตีแทนกลองโทน ทั้งนี้เพราะมีเสียงที่กังวาลกว่า แต่ก็ยังเรียกติดปากว่า เพลงรำโทนเหมือนเดิม พ่อเพลงแม่เพลงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร มีพื้นฐานในการร้องเพลง จากการได้ฟังเพลงมาตั้งแต่ยังเด็ก การแต่งกายในการเล่นรำโทนก็ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแต่อย่างใด สุดแต่ว่าความสะดวก แต่เน้นชุดที่สุภาพเรียบร้อย เนื้อหาเพลงส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับความรัก จุดเด่นของเนื้อเพลงรำโทนบ้านวัดโบสถ์ โดยรวมก็คือ มีถ้อยคำที่สุภาพไม่มีคำหยาบ ท่วงทำนองเพลงรำโทนส่วนใหญ่จะกระชับ ระดับความเร็วจังหวะหลัก ที่ใช้ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 65-70 ต่อนาที เนื้อร้องบางเพลง มีการล้อเลียนเสียงเครื่องดนตรีหลายชนิด อาทิ ซอ พิณ ระนาด ฆ้องวง กลองรำมะนา เพลงรำโทนหลายเพลงได้หยิบยืมเพลงไทยเดิมมาใส่เนื้อเต็ม บันไดเสียงในการขับร้องส่วนใหญ่ จะใช้บันไดเสียง ซีเมเจอร์ และมีบันไดเสียงเอฟไมเนอร์บ้างไม่มากนัก ทำนองเพลงส่วนใหญ่ จะใช้เสียงหลักจำนวน 5 เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา ซึ่งทำนองเพลงพื้นบ้านทั่วโลกต่างก็มีเสียง ทำนองหลัก 5 เสียงเหมือนกัน รำโทนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน กับการเมืองในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลายบทเพลงแต่งขึ้น เพื่อปลุกใจให้คนไทยมีความรักชาติ ให้เชื่อในตัวผู้นำ แต่งกายให้เป็นแบบสากล และเนื้อร้องบางเพลงยังบรรยายถ่ายทอดให้เห็นภาพเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่สอง การแพร่กระจายเข้ามาของเพลงรำโทนในเขตบ้านวัดโบสถ์ สันนิษฐานว่ามาจากจังหวัดลพบุรี พร้อมๆ กับการกลับมาของทหารที่ปลดประจำการ ส่วนหนึ่งของเนื้อร้องเพลงเชียร์รำวงเพลงลูกทุ่ง ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากเพลงรำโทนทั้งสิ้น เพลงรำวงมาตรฐานของกรมศิลปากร เกือบนับสิบเพลงก็นำเพลงรำโทนของชาวบ้านมาปรับปรุง แม้แต่คุณครู เอื้อ สุนทรสนานก็ยังนำเพลงรำโทนมาเป็นแนวทางในการสร้างเพลงรำวงสุนทราภรณ์
http://www.culture.go.th/research/center/41_6.html

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาลัยไทยโชว์ บัวจริยา

แหล่ธรรมมะ พระพร ภิรมย์ โดย คมสันต์ สุทนต์